*แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการยกร่าง11คณะ คู่ขนานกับการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ทันเลือกตั้งปี 59*

19 กุมภาพันธ์ 2558, 18:11น.


การแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 11 คณะ ซึ่งจะเริ่มทำงานตั้งแต่พรุ่งนี้ คู่ขนานกับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มั่นใจว่า จะร่างให้แล้วเสร็จก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ แต่จะมีร่างพระราชบัญญัติ2-3 ฉบับที่ต้องประกาศใช้ก่อน เช่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อนำไปประกาศใช้ในการเลือกตั้ง  คาดว่า หลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว 3 เดือนจึงจะมีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้ ยืนยันว่า จะทันต่อการเลือกตั้งในช่วงกุมภาพันธ์ ปี 2559 แน่นอนส่วนถ้ามีการทำประชามติ ก็จะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยเป็นอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่จะพิจารณา



ส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญในภาค4 ว่าด้วยการปฎิรูปและการปรองดอง ที่มีการพิจารณาการปฎิรูปในด้านแรงงาน นพ. ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เปิดเผยว่า จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือกองทุนการเงินของแรงงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานเนื่องจากพบว่า  มีแรงงานกว่าร้อยละ 60 จากจำนวนแรงงาน 16.9 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 10,000บาท และต้องกู้เงินนอกระบบทำให้มีหนี้เฉลี่ยกว่า 106,000บาทต่อครัวเรือน  จะให้รัฐบาลเป็นผู้ออกพันธบัตรจำนวน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเงินไปให้ธนาคารของรัฐบริหารจัดการปล่อยเงินกู้ให้แรงงานในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี โดยผู้กู้จะกู้ได้ไม่เกินสามเท่าจากฐานเงินเดือน



 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ประชุมลงมติในวาระที่ 3 ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร  เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 179 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง นอกจากนี้ ยังได้ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 172 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง  ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 21 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน ร่างกฎหมายมีสาระสำคัญ 10 ประการ เช่น การไม่ให้นับอายุความหากจำเลยมีการหลบหนี ขณะที่มีการพิจารณาคดีหรือมีบทลงโทษแล้ว และให้อำนาจศาลพิจารณาริบทรัพย์สินจากจำเลยได้ตามดุลยพินิจ หากพบว่าทรัพย์สินต่างๆได้มาจากการทุจริต เป็นต้น



 ธีรวัฒน์ 

ข่าวทั้งหมด

X