นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายว่าภายในเดือน พ.ย. 64 สถานการณ์โควิด-19 น่าจะคลี่คลาย เพราะสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้า จะเห็นว่ายอดผู้ป่วยยังทรง ไม่เพิ่มไปจากเดิม ก็เพราะได้วัคซีนเข้ามาช่วย ตอนนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 50% และในเดือน ต.ค.64 ก็น่าจะได้ถึงตัวเลข 70% น่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ระดับป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ จากนั้นในเดือน พ.ย.64 จะระดมฉีดเข็ม 2 ทันที ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อยังจะมีรายงานเข้ามา แต่ยอดการป่วยหนักและเสียชีวิตจะน้อยลงแน่นอน เพราะคุณสมบัติของวัคซีนคือป้องกันป่วยและป้องกันการสูญเสีย
การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในภาพรวมทั่วประเทศให้บริการวัคซีนได้มากกว่า 65 ล้านโดสแล้ว ถือว่าเร็วกว่าที่คาดกันเอาไว้ ส่วนหนึ่งเพราะเราฉีดกับเด็กด้วย จากที่ไม่มีแผนนี้ตั้งแต่แรก นอกจากนั้น วัคซีนก็เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ คาดว่าเราจะฉีดได้มากกว่าเป้าที่วางไว้ว่าจะฉีดให้ได้ 70% ของประชากร ซึ่งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า เรามองเป้าที่ 80% ได้เลย เมื่อก่อนฉีดได้วันละ 6 แสนโดสก็เยี่ยมแล้ว ปัจจุบันบางวันสามารถฉีดได้แตะ 1 ล้านโดส วัคซีนเข้ามาต่อเนื่อง เราเร่งตรวจสอบ ส่งเข้าระบบบริการอย่างต่อเนื่อง การให้บริการรวดเร็ว แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามการพิจารณาของแพทย์ ต้องมีทั้งปริมาณ และคุณภาพด้วย
นายอนุทิน กล่าวว่า ทีมองค์การเภสัชกรรม และทีมของจุฬาฯ ไม่ได้วางแผนฉีดแค่ 2 เข็ม แต่มองไปถึงเข็มบูสเตอร์แล้ว ประสบการณ์ทำให้เรามีความรู้เรื่องวัคซีน และการจัดหามากขึ้น และขอยืนยันไทยจะจัดหาวัคซีนที่ดี และสอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด ซึ่งคณะนักวิชาการของไทยเก่งมาก สามารถปรับการใช้วัคซีนให้สอดคล้องกับการระบาด เป็นที่มาของสูตรวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ในอนาคตจะมีการปรับอีก ไปจนถึงการฉีดเข็ม 3 ไม่ว่าประชาชนจะฉีด 2 เข็มเป็นสูตรไหนมา ประเทศไทย มีคณะศึกษาทำงาน คอยวัดภูมิคุ้มกัน ถ้าพบว่าภูมิตกจะนัดมาฉีดเข็ม 3 แน่นอน
เรื่องของยาและเวชภัณฑ์ ประเทศไทยมีแผนจะนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ แต่ขอให้พิจารณาเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อน ระหว่างนี้ไทยยังใช้ฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าและผลิตได้เองแล้ว ที่ผ่านมามีการปรับการให้ยาให้เร็วขึ้นเพื่อลดความสูญเสียที่เกิดกับผู้ป่วย
การตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค.ส่วนกลาง นายอนุทิน มองว่าเป็นการช่วยกันทำงาน เพราะการคุมโควิดก็ต้องบูรณาการงานระหว่างหลายภาคส่วน งานด้านความมั่นคง ก็ต้องให้ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ดูแลไป แต่เรื่องการรักษาโรคต้องยกให้แพทย์ จะให้แพทย์ไปทำงานแบบโปลิศจับขโมยก็ไม่ได้
ขณะที่การเปิดประเทศ คนที่เข้ามาไทยต้องฉีดวัคซีน ต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน และต้องผ่านการ RT-PCR ว่าไม่ติดโรค โดยกำลังพิจารณาว่าถึงจะผ่านการตรวจด้วย RT-PCR แล้ว แต่เมื่อมาถึงไทยควรจะตรวจยืนยันอย่างไรต่อ เพื่อให้เกิดความมั่นใจสูงที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม คืนแรกก็ต้องเฝ้าระวัง แต่ที่แน่ๆ คือถ้ามาตรการออกมาแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม เช่นเดียวกับ การเปิดผับบาร์ ยอมรับว่าเป็นห่วง ต้องมีมาตรการดูแลประชาชนแน่นอน และขอให้เมื่อถึงวันนั้นประชาชนโปรดให้ความร่วมมือด้วย
#ฉีดวัคซีนโควิด19
#ติดเชื้อภาคใต้
แฟ้มภาพ กระทรวงสาธารณสุข