สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน นาย เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับว่า ปีนี้น้ำน้อย และในช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกตามฤดูหรือไม่ ทำให้การเกิดภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆเป็นไปได้มาก และทราบมาว่าล่าสุดมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้วกว่า 15 จังหวัด อย่างไรก็ดีในส่วนพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำต้นทุนและเป็นพื้นที่ของกรมชลประทาน ยืนยันว่าไม่มีปัญหาต่อการรับมือภัยแล้ง และจะมีน้ำเพียงพอไปจนถึงช่วงปลายฤดูฝนเป็นอย่างน้อย รวมทั้งมีคณะกรรมการคอยดูแลอยู่แล้ว แต่ในพื้นที่นอกเขตของกรมชลประทานที่มีเนื้อที่ภาคเกษตรกว่า 120 ล้านไร่ คาดว่าจะต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง เพราะน้ำธรรมชาติก็มีอยู่น้อยและไม่มีผู้คอยดูแล ทำให้น้ำธรรมชาติจะหมดไว และประชาชนจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคด้วย อย่างไรก็ดีทราบมาว่ามีกระทรวงต่างๆได้เข้าไปให้การช่วยเหลือแล้ว ทั้งการขุดบ่อบาดาล.จัดหาเงินทุนและอาชีพเสริมให้ทำ ซี่งส่วนของกรมชลฯเองจะพยายามหามาตรการพัฒนาให้พื้นที่นอดเขตนี้เข้ามาเป็นพื้นที่ในการดูแลของกรมชลฯต่อไป
ส่วนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ที่ประกอบไปด้วยแผนแก้ไขภัยแล้ง แผนป้องกันอุทุกภัย และแผนพัฒนาคุณภาพน้ำ กรมชลประทานได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เร่งพัฒนาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ภายใน 2 ปี ประชาชนกว่า 9,000 หมู่บ้านต้องมีน้ำอุปโภคบริโภคและภายใน 12 ปีตามยุทธศาสตร์ กรมชลฯวางแผนให้มีเนื้อที่การเกษตรเพิ่มขึ้น 8 ล้านไร่ พัฒนาลุ่มแม่น้ำให้ประชาชนใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น โดยยุทธศาสตร์นี้คาดว่าต้องใช้งบทั้งหมดราว 700,000แสนล้านบาทเพื่อพัฒนาบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ส่วนการลงนามในบันทึกข้อตกลงการดำเนินการสูบผันน้ำท่อส่งน้ำเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์-คลองใหญ่ของกรมชลฯและการประปาส่วนภูมิภาคในวันนี้ นาย สุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายบำรุงรักษา ระบุด้วยว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อการใช้น้ำของภาคเกษตร และจะช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมในจ.ระยองที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำกว่าร้อยละ 60 ของทั้งหมดมีน้ำเพียงพอต่อการใช้มากขึ้น และยังมีคณะกรรมการจัดการชลประทานและกลุ่มบริหารการใช้น้ำนอกภาคเกษตรได้มีส่วนร่วมในการดูแลผลประโยชน์อยู่แล้ว ส่วนการบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายในการผันน้ำ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) จะเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมดด้วน