สูญเสีย'บรูซ แกสตัน' ครูผู้ผสมผสานดนตรีไทยและสากล

17 ตุลาคม 2564, 11:02น.


           วันนี้ นับเป็นวันแห่งความสูญเสียบุคลากรในวงการดนตรีไทยแบบผสมผสานอีกครั้ง  บรูซ แกสตัน เสียชีวิตเมื่อเวลา 8.00 น.วันนี้สิริอายุรวม 75 ปี  ด้วยโรคมะเร็งตับ จะเคลื่อนย้ายนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดธาตุทองในวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคมนี้ ที่ศาลาเสถียรไทย 32



            ข้อมูลจากเพจ วงฟองน้ำ  บอกเล่าเรื่องราวของ อาจารย์บรูซ นักดนตรีอเมริกันผู้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยยาวนานกว่า 40 ปี เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคมโลก ครูดนตรีผู้สร้างนักดนตรีไทยรุ่นใหม่ขึ้นมาทำประโยชน์ในสังคมไทยมากมาย



          บรูซ แกสตัน เกิดที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2490 เติบโตมาในครอบครัวที่รักเสียงดนตรี สัมผัสกับความงามอัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่าดนตรีมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ สามารถเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกได้หลายเครื่อง โดยเฉพาะเปียโน ออร์แกน และเพลงขับร้องประสานเสียง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย University of Southern California ในปี พ.ศ. 2512 สาขาวิชาที่ชำนาญคือ ทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลง และปรัชญาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 22 ปี เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งวงดนตรีฟองน้ำร่วมกับครูบุญยงค์ เกตุคง ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 โดยนำเสนอดนตรีไทยเดิม มาผสมผสานกับดนตรีแบบตะวันตก โดยยึดเอาแก่นความคิดดนตรีของทั้งสองฟากมาผสมผสานโดยกลวิธีต่าง ๆ



          ผลงานเด่นๆของบรูซ แกสตัน มีดังนี้



พ.ศ. 2525 ประพันธ์เพลง “เจ้าพระยาคอนแชร์โต” ร่วมฉลองกรุงเทพมหานครอายุครบ 200 ปี บทเพลงนี้ได้นำเสนอมิติของดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย ดนตรีไฟฟ้า ที่จัดวางเสียง จังหวะ ในพื้นที่และเวลาที่แตกต่างกัน รวมทั้งการประยุกต์พุทธปรัชญาเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์งานซึ่งยังปรากฏต่อเนื่องในผลงานชิ้นอื่นๆ อาทิ มรรคแปด อริยสัจสี่



พ.ศ. 2525 เพลงอาหนู สำหรับ Prepared Piano ระนาดทุ้ม และดนตรีไฟฟ้า แสดงในงานรำลึกจอห์น เคจ ณ มหานครนิวยอร์ค



พ.ศ. 2530 นำวงดนตรีฟองน้ำ ร่วมเทศกาลมหกรรมดนตรีราชสำนัก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของครูดนตรีอาวุโสของวงการดนตรีไทยไปร่วมกันนำเสนอบทบาทหน้าที่ของดนตรีไทยในระบบบอุปถัมภ์ของราชสำนักซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาดนตรีไทยในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา



พ.ศ. 2530 ประพันธ์เพลง “Thailand the golden Paradise” เพื่อเฉลิมฉลองปีท่องเที่ยวไทย และถือเป็นเพลงหลักในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยทั่วโลกนับแต่นั้นมา



พ.ศ. 2552-54 สร้างโอเปรา “A Boy and A Tiger” ทำการสอนดนตรี ประพันธ์เพลง กำกับการแสดง ให้กับกลุ่มเยาวชนบ้านเกดาร์ ซึ่งเป็นผลงานการทลายกำแพงอคติต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องที่บรูซ แกสตัน ทุ่มเทพลังในการสร้างสรรค์มากที่สุดชิ้นหนึ่ง



#สิ้นครูบรูซแกสตัน 



ขอบคุณข้อมูลจาก สยามมานุสติ และ เพจ วงฟองน้ำ 

ข่าวทั้งหมด

X