นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงนามประกาศฉบับที่ 23/2564 เรื่องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง จากอิทธิพลของพายุคมปาซุ คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 13-14 ต.ค.64 โดยจะอ่อนกำลังลงและทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ประกอบกับในช่วงวันที่ 12-16 ต.ค.64 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เน้นย้ำพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 13-20 ต.ค.64 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม
1.1ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
1.2ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ จังหวัดระนอง และพังงา
2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
2.1ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสกลนคร
2.2ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
2.3ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี
2.4ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
3. เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
3.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำมูล อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
3.2 ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี แม่น้ำลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี แม่น้ำท่าจีน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
จากสถานการณ์ดังกล่าว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้
-ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
-ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง
-แจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
#ปรับแผนพื้นที่น้ำมากกว่า80%
CR:กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ