นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยเรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยว่าปัจจุบันยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่
-อ.บ้านหมี่ (ฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6 ตำบล ได้แก่ ต.หนองกระเบียน ต.หนองเมือง ต.บ้านกล้วย ต.บ้านทราย ต.หนองทรายขาว และ ต.พุคา รวม 4,940 ครัวเรือน
-อ.ท่าวุ้ง พื้นที่ 5,700 ไร่
ส่วนที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 864 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 90% ของความจุอ่าง ได้มีการปรับลดการระบายน้ำเหลือเพียง 550 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก บริเวณด้านท้ายเขื่อนป่าสัก ลดลงอย่างต่อเนื่อง
กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในพื้นที่จ.ลพบุรี
-ปิดการรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก
-สำนักเครื่องจักรกล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟล ขนาด 42 นิ้ว จำนวน 4 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟล ขนาด 24 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ได้เพิ่มขึ้นเป็น 15 ลบ.ม./วินาที
ขณะที่ นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี แจ้งว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีประกาศฉบับล่าสุด 22/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง ระบุว่า ในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค.64 มีพื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัย ภาคกลางบริเวณแม่น้ำลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
จังหวัดลพบุรี แจ้งไปที่โครงการชลประทานลพบุรี อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอเมืองลพบุรี ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ โดยขอให้ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
#เร่งระบายน้ำเมืองลพบุรี
CR:กรมชลประทาน,สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี