บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัดร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุจส. 100 ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในโครงการกล่องวิเศษ ทางพิเศษรักษ์โลก ปีที่ 4 ประจำปี 2558 นายประสิทธิ์ เดชศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายกรรมสิทธิ์ที่ดิน รักษาการตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายปฎิบัติการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 เพื่อตอบแทนสังคมและช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลน ซึ่งการทางพิเศษได้ร่วมกับบริษัท อำพลฟู้ดส์ จัดตั้งจุดรับบริจาคกล่องยูเอชทีเพื่อนำไปทำเป็นอุปกรณ์การเรียน ซี่งประชาชนสามารถบริจาคกล่องได้ที่สำนักงานของการทางพิเศษ 6 แห่ง และด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ณ ที่ชำระเงินค่าผ่านทางกว่า 112 ด่าน ได้ตลอดทุกวันและเวลา ส่วนปีนี้ตั้งเป้าเก็บกล่องให้ได้อย่างน้อย 700,000 ชิ้น
ขณะที่ นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัท อำพลฟูดส์ ระบุว่า บริษัท อำพลฟูดส์ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งออกขายกว่าปีละ 200 ล้านชิ้น และเมื่อรวมกับทุกบริษัทก็มีการผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์รวมกันกว่า 3 พันล้านชิ้นต่อปี ซี่งหากไม่นำมารีไซเคิล กล่องแต่ละกล่องก็จะต้องใช้เวลากว่า 100 ปีในการย่อยสลาย ทำให้นอกจากจะเกิดขยะแล้ว ยังส่งผลให้เกิดปัญหามลภาวะต่างๆและสารเคมีในกล่องตามมา ทางบริษัทจึงเห็นว่าควรนำมารีไซเคิลเพื่อลดปัญหาและผลักดันโครงการกล่องวิเศษ ทางพิเศษรักษ์โลกขึ้นมา โดยช่วงสองปีแรกที่มีโครงการนั้นพบว่ามีปัญหาเรื่องการส่งกล่องเปล่า ทำให้ได้กล่องเพียง 480,000 กล่อง บริษัทจึงร่วมมือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อจัดตั้งจุดรับบริจาคกล่องตามด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษแห่งประเทศไทย และสำนักงานอีก 6 แห่งของการทางพิเศษฯ โดยในปี 2557 สามารถเเกะ ล้าง เก็บ กล่อง ได้กว่า 600,000 กล่องและนำมาทำเป็นอุปกรณ์การเรียน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ได้กว่า 240 ชุด ซึ่งแต่ละชุดต้องใช้กล่องกว่า 2,500 กล่อง ทั้งนี้ การนำกล่องมาผลิตเป็นอุปกรณ์การเรียน ในขั้นแรกต้องให้ผู้เก็บกล่อง แกะ ล้าง เก็บเพื่อล้างเชื้อโรคก่อน เมื่อนำมาส่งที่ด่านแล้วด่านก็จะนำมาส่งต่อที่บริษัท โดยบริษัทจะนำกล่องยูเอชทีที่ได้มาเข้าสู่กระบวนการย่อยและบดอัดด้วยแรงดันและความร้อนสูงเพื่อให้กล่องทำปฎิกิริยาเป็นเนื้อเดียวกันและมีความแข็งแรง โดยไม่ได้มีการนำไม้หรือส่วนผสมอื่นๆผสมลงไปเพิ่ม แต่ก็เพียงพอที่จะนำไปเป็นอุปกรณ์การเรียนได้ นอกจากอุปกรณ์การเรียนแล้ว ยังเคยนำกล่องที่ได้มาสร้างเป็นชั้นวางหนังสือและอาคารเรียนกว่า 2 อาคารในจ.บุรีรัมย์และสมุทรสาคร ซึ่งต้องใช้กล่องกว่า 1 ล้านกล่องต่อหนึ่งอาคารเรียน ส่วนกล่องที่จะนำมาบริจาคนั้น ก็เป็นกล่องของผลิตภัณฑ์ใดก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นของอำพล ฟู้ดส์ แต่ขอให้เป็นกล่องยูเอชที ยืนยันว่าการพัฒนาโครงการนี้เพื่อตอบแทนสังคมและให้โอกาสกับเด็กที่ขาดแคลน รวมถึงเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะในสังคม ไม่ได้ทำเพื่อเป้าหมายทางธุรกิจและการตลาดแต่อย่างใด ส่วนในปี 2558 ตั้งเป้าให้ได้กล่องอย่างน้อย 700,000-1,000,000 กล่อง แต่ยังไม่ทราบว่าจะนำไปบริจาคให้โรงเรียนใด
ขณะที่นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ก็ระบุด้วยว่า โครงการนี้ทั้งรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลน โดยตนเองยังมีแนวคิดจะขยายโครงการสร้างจิตสำนึกให้เด็กโดยการฝึกให้รักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ให้เก็บขยะเพื่อนำไปขาย และนำเงินมาเป็นส่วนกลางเพื่อพัฒนาโรงเรียนต่อไป เชื่อว่าจะช่วยสร้างจิตสำนักที่ดีและเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัวได้ด้วย
สำหรับในวันนี้ทางบริษัท อำพลฟู้ดส์ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังได้ส่งมอบอุปกรณ์การเรียนกว่า 240 ชุดที่เป็นผลผลิตจากการบริจาคกล่องในปี 2557 ให้กับโรงเรียนต่างๆในจ.นครนายก กว่า 6 แห่งมูลค่า 252,000 บาท และการทางพิเศษ ได้มอบเงินจำนวน 100,000 บาทเพื่อจัดซื้อเครื่องเล่นให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดวังไทร จ.นครนายก นอกจากนี้ยังได้ร่วมลงนามเอ็มโอยูโครงการติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ด้วย
...ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร