โครงการนำร่องใช้โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับของอินเดียประสบความสำเร็จในการลำเลียงวัคซีนไปยังศูนย์สาธารณสุขประจำหมู่บ้านในท้องที่ทุรกันดาร เช่น รัฐมณีปุระ (Manipur)พื้นที่ที่มีภูเขาสูงๆทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อวันจันทร์ ช่วยประหยัดเวลาในการลำเลียงวัคซีน เมื่อเทียบกับการลำเลียงวัคซีนปกติทางเรือและรถยนต์ที่อาจจะใช้เวลารวม 12 ชั่วโมง
นพ.ซามิรัน ปานดา หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์และหัวหน้าสำนักงานระบาดวิทยา ประจำสภาวิจัยการแพทย์อินเดีย(ICMR) เปิดเผยว่า อินเดียจะใช้โดรนลำเลียงวัคซีนไปยังศูนย์สาธารณสุขหมู่บ้านในท้องที่ทุรกันดารอื่นๆ รวมทั้งรัฐนาคาแลนด์(Nagaland)ด้วย เพื่อขับเคลื่อนโครงการวัคซีนของอินเดียให้คืบหน้าเร็วขึ้น สำหรับโดรนดังกล่าวสามารถจะบรรทุกวัคซีนหนัก 4.5 กิโลกรัมหรือปริมาณวัคซีนรวม 900 โดส สามารถลำเลียงวัคซีนไปส่งยังจุดหมายปลายทางเป็นระยะทาง 70 กิโลเมตร
การใช้โดรนช่วยประหยัดเวลาในการลำเลียงวัคซีนมาก เช่น ลำเลียงวัคซีนจากอำเภอพิศนุปุระ(Bishnupur)ในรัฐมณีปุระไปยังศูนย์วัคซีนบนเกาะการัง(Karang)ในแถบทะเลสาบลอกตัก(Loktak) ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ราว 3,500 คน โดรนใช้เวลาเดินทางเพียง 12 นาที ส่งวัคซีนถึงจุดหมายปลายทาง เทียบกับการเดินทางโดยปกติคือ ใช้เรือและรถยนต์ใช้เวลาเดินทางรวม 4 ชั่วโมง
ตั้งแต่อินเดียเริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อวันที่16 มกราคม ประชาชนได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 925 ล้านโดส แบ่งเป็นประชาชนกว่า 670 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของประชากรของอินเดียรับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม ส่วนอีก 255 ล้านคน ได้ครบสองเข็ม โดยอินเดียตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ครบโดส ให้กับประชาชนทุกคน ภายในสิ้นปีนี้
#อินเดีย
#โดรนขนส่งวัคซีน
#โควิด19