กรมชลประทาน ปรับลดระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์วันนี้ ลดผลกระทบท้ายเขื่อน

04 ตุลาคม 2564, 13:49น.


          อิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่น เตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โดยเฉพาะพื้นที่ใต้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะเห็นได้ว่าเขื่อนหลัก เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่กักเก็บ 13,000 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การ 6,200 ล้าน ลบ.ม. เหลือพื้นที่ว่างอีก 12,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่การบริหารจัดการน้ำท้ายเขื่อนในช่วงน้ำหลาก (ลุ่มน้ำปิง, ลุ่มน้ำน่าน) เหนือ จ.สุโขทัย จะผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำ คือ ทุ่งบางระกำ (ประมาณ 400ล้าน ลบ.ม.)



          ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำปิง ปัจจุบันเริ่มคงที่และลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีการปรับการระบายน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงเหลือ 2,770 ลบ.ม./วินาที ส่วนเหนือเขื่อนเจ้าพระยาได้ผันน้ำออกไปทางฝั่งตะวันตก และตะวันออก รวม 400ลบ.ม./วินาที และได้ผันน้ำไปยังพื้นที่ลุ่มต่ำอีกประมาณ 900ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 600ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะทุ่งบางบาล ยังยืนยันว่าสามารถรองรับน้ำได้



         ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะเกินความจุไปจากระดับกักเก็บประมาณ 20ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น2% ของความจุ แต่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนจะน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ระบายออก ซึ่งในช่วงเที่ยงวันนี้ (4ตุลาคม2564) จะปรับลดการระบายน้ำลง อาจไม่ถึง1,000ลบ.ม./วินาที นั่นหมายความว่า จะเป็นการลดผลกระทบด้านท้ายเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนพระราม6 ขณะเดียวกันก็เป็นการลดภาระของพื้นที่ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้นำน้ำส่วนนี้ผันลงฝั่งตะวันออก เช่น คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ คลองนครเนื่องเขต คลองพระองค์ไชยานุชิต คลองสำโรง คลองชายทะเล และจะสูบน้ำลงสู่อ่าวไทย เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนด้วย



          อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระราม6 เขื่อนป่าสักฯ มวลน้ำที่ระบายมาก่อนหน้านี้ ถ้าไม่มีฝนตกมาเพิ่มในพื้นที่ ก็คาดว่าจะลดการระบายน้ำลงด้วยตามสถานการณ์ และใช้เวลาอีกสักระยะ สถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ กรมชลประทานยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์ต่างๆจะเข้าสู่ภาวะปกติ ขอให้ประชาชนมั่นใจและเฝ้าติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด



           สำหรับ สถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งสิ้น 20 จังหวัด 87 อำเภอ คือ



-จังหวัดสุโขทัย 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.ศรีสำโรง อ.บ้านด่านลานหอย อ.ศรีสัชนาลัย อ.เมือง อ.คีรีมาศ และ อ.สวรรคโลก ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2564 มีฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำในปริมาณมาก โครงการชลประทานสุโขทัย ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 21 เครื่อง พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดสุโขทัย ด้วยการชะลอน้ำ(หน่วงน้ำ)ไว้ทางด้านเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม(บ้านหาดสะพานจันทร์) เร่งผันน้ำเข้า ปตร.คลองหกบาท และใช้ระบบคลองเชื่อมฝั่งซ้ายแม่น้ำยม ในการผันน้ำเข้าสู่คลองแม่น้ำยมสายเก่า เพื่อลดระดับน้ำในเขตอำเภอเมือง



จังหวัดนครราชสีมา 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง อ.เมือง และ อ.โนนไทย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านท้ายอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) และปริมาณน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งของลำน้ำมูล



          ส่วนพื้นที่ด้านท้ายกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำเชียงไกร รวม 18 เครื่อง พร้อมเร่งดำเนินการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราวของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง)จนแล้วเสร็จ ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ ได้เร็วขึ้น และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า



จังหวัดลพบุรี 1 อำเภอ บริเวณริมคลองชัยนาท-ป่าสัก ดังนี้ อ.บ้านหมี่ 6 ตำบล ได้แก่ ต.หนองกระเบียน ต.หนองเมือง ต.บ้านกล้วย ต.บ้านทราย ต.หนองทรายขาว และ ต.พุคา รวม 4,940 ครัวเรือน โครงการชลประทานลพบุรี ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่



จังหวัดอุบลราชธานี 3 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ตลิ่งต่ำน้ำท่วมซ้ำซาก ได้แก่ อ.เมือง อ.วารินชำราบ และ อ.ตระการพืชผล เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” และการระบายในลำน้ำสายต่างๆ ลงสู่แม่น้ำมูล ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 100 เครื่อง(แผนวางไว้ 200 เครื่อง) เร่งระบายน้ำไปลงแม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด เพื่อรอรับน้ำเหนือที่กำลังจะลงมาอีกในระยะต่อไป



จังหวัดชัยภูมิ 16 อำเภอ รวมพื้นที่ประมาณ 157,211 ไร่ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำลำคันฉู ลำปะทาว และลำน้ำพรม-เชิญ โครงการชลประทานชัยภูมิ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชี ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว



          นอกจากนั้น กรมชลประทาน ยังทำงานประสานกับแต่ละจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนหรือสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา



#พายุเตี้ยนหมู่



#กรมชลประทาน

ข่าวทั้งหมด

X