พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงประสิทธิภาพของอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีอุโมงค์ยักษ์ช่วยระบายน้ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-5.0 ม. กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำและระบบระบายน้ำในพื้นที่ เช่น ท่อระบายน้ำ คู คลอง มีขีดจำกัดไม่สามารถนำน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ปัจจุบันได้มีการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนี้
-โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.40 ม. ยาวประมาณ 1.88 กม. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนบนของกทม. ริมคลองเปรมประชากร เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตร.กม.
-โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลบ.ม.ต่อวินาที และท่อระบายน้ำใต้ดินมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.60 ม. ยาวประมาณ 5.98 กม. ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และเขตดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม.
-โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และเขตลาดพร้าว อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 5.11 กม. มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที
-โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และเขตดุสิต อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 6.40 กม. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์กำลังสูบ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที
กทม. จะดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ความยาวรวม 39.625 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 238 ลบ.ม.ต่อวินาที ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี)
สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำระหว่างจังหวัดปริมณฑลกับ กทม. นั้น กทม. ได้มีการประสานงานร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง และจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกับพื้นที่ปริมณฑล ดังนี้
พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. มีข้อตกลงในการบริหารจัดการน้ำกับพื้นที่รอบนอกซึ่งเชื่อมต่อกับปริมณฑลด้านเหนือ แนวริมคลองมหาสวัสดิ์ เขตทวีวัฒนา ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา ประตูระบายน้ำคลองซอย ประตูระบายน้ำคลองบางคูเวียง ประตูระบายน้ำคลองขุนศรีบุรีรักษ์ และประตูระบายน้ำคลองควาย โดยจะเปิดประตูระบายน้ำตลอดเวลา แต่ในช่วงฤดูฝนจะควบคุมระดับน้ำภายในพื้นที่ฝั่งธนบุรีไม่เกิน +0.80 ม.รทก.และถ้าระดับน้ำมากกว่านี้จะเปิดประตูบางส่วนหรือปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพฝนและระดับน้ำภายในพื้นที่
พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. มีข้อตกลงในการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอบนอกซึ่งเชื่อมต่อกับปริมณฑลด้านเหนือ คลองเปรมประชากรตอนประตูระบายน้ำคลองเปรมใต้ (ติดคลองรังสิต) ประตูดังกล่าวประกอบด้วยประตูแบบปิด และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 11 ช่วงฤดูฝนจะเดินเครื่องสูบน้ำรักษาระดับน้ำด้านในไม่เกิน +0.50 ม.รทก.ช่วงฤดูแล้งจะเปิดบานประตูเพื่อนำน้ำจากคลองรังสิตผ่านเข้ามาไหลเวียน
ในส่วนของความคืบหน้าการขุดลอกคูคลองจัดเก็บขยะและวัชพืชในแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งการลอกท่อระบายน้ำ ช่วยเปิดทางน้ำไหล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปีงบประมาณ 2564 ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 100% ดังนี้ สำนักงานเขต รับผิดชอบ จำนวน 117 คลอง ความยาว 212,732 ม. สำนักการระบายน้ำรับผิดชอบ จำนวน 15 คลอง ความยาว 57,870 ม.
....
#กรุงเทพมหานคร
#น้ำท่วม