เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเรื่อง “ยกเลิกการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี” มีใจความสรุปว่า ตามที่มีประกาศเรื่องกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) โอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมาย รวม 31 ฉบับ มาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เพื่อให้การสั่งการและการแก้ไขสถานการณ์เป็นไปโดยมีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ นั้น
ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายที่ได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามหน้าที่อำนาจและความรับผิดชอบปกติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 ให้ยกเลิกประกาศเรื่องกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) และหากหน่วยงานใดมีข้อขัดข้องหรือไม่ได้รับความร่วมมือในการประสานงานหรือในการปฏิบัติหน้าที่ ให้รายงานนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีทราบเป็นการด่วน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564
นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 14) โดยระบุว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.จนถึงวันที่ 30 พ.ย.2564
ราชกิจจานุเบกษายังเผยแพร่ประกาศข้อกำหนดคลายล็อกที่จะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ด้วย
#ต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
#โควิด19
CR:http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/235/T_0004.PDF ยกเลิกโอนอำนาจรัฐมนตรีให้นายกฯ
CR:http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/235/T_0001.PDF ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
CR:http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/235/T_0005.PDFข้อกำหนดคลายล็อกตามมาตรา9