ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลื่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง ที่ จ.เชียงใหม่
โดยในประเด็นที่มีการคัดค้านการเปิดสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ให้เลื่อนการยื่นคำขอรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ออกไปก่อน เพื่อรอฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งกล่าวว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนกรอบเวลาว่าจะเปิดสัมปทานเมื่อใด ต้องรอฟังความเห็นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้
ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ จัดเวที ชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นนี้ไปแล้ว 4 ครั้ง แต่ยินดีที่จะชี้แจงต่อไป เพื่อตอบคำถามประเด็นที่ประชาชนยังสงสัย เช่น ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน และกำลังจะหมดลงไปในอนาคตอันใกล้ , เปรียบเทียบให้เห็นข้อดีและข้อเสียของระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC กับระบบสัมปทานที่ใช้ในปัจจุบัน , ความกังวลเรื่องของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัมปทาน , การใช้อนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาท
ส่วนเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการประชุมกมธ.ยกร่างฯ ในการพิจารณาร่างบทบัญญัติรายมาตรา โดยเริ่มพิจารณาตั้งแต่ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 บทบัญญัติทั่วไป โดยภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองนั้น กมธ. ยกร่างฯได้บัญญัติขึ้นมาใหม่ เน้นการยุติความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง โดยบทบัญญัตินี้จะมีกมธ.ยกร่างฯอายุการทำงาน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เว้นแต่ประเด็นพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน รัฐสภา หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้จัดมีการออกเสียงทำประชามติ บทบัญญัติภาคนี้คงใช้บังคับอยู่ต่อไปซึ่งต้องไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่พลเมืองมีสิทธิเลือกตั้ง โดยเสียงข้างมากออกเสียงประชามติเห็นชอบ
ส่วนเรื่องของคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อสยบความเคลื่อนไหว เพราะการเคลื่อนไหวมีหลายรูปแบบถือเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
และในเรื่องข้อเสนอของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ในประเด็นการอภัยโทษนั้น ขณะนี้ในกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่มีการพูดถึง คงต้องรอให้ถึงหมวดที่เกี่ยวข้องก่อนเป็นเพียงการปาฐกถาของนายบวรศักดิ์ ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีข้อสรุปเบื้องต้น เกี่ยวกับการตัดสิทธิ์ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยทุจริตการเลือกตั้งหรือต้องคดีทุจริต ไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ซึ่งพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่า ยังเป็นการหารือในหลักการกว้างๆ ไม่ได้เจาะจงกลุ่มใดเป็นพิเศษ ส่วนการเชิญตัวแทน 37 พรรคการเมือง ร่วมสัมมนาเสนอความคิดเห็นเรื่อง "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" ตัวแทนจากพรรคการเมืองได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายประเด็น เช่นมีองค์กรใหม่เยอะเกินไปจะไม่เกิดประโยชน์ แต่จะเป็นอุปสรรคแทน และการไม่ให้ สส.สังกัดพรรค ถือเป็นการทำลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอ
เมื่อวานนี้ นายศักดิ์ชัย เมทินีพิศาลกุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นส่งสำนวนคดีอาญานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก 21 ราย กรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) โดยมิชอบ ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหามีทั้งภาครัฐ และเอกชนแต่การส่งสำนวนยังมีในส่วนของภาคเอกชนที่ ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชน พ่อค้าที่ทำการค้ากับรัฐบาลในสมัยนั้น
ด้านนายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอสส.คาดว่า การพิจารณาจะเสร็จภายใน 1 เดือน และกล่าวว่าสำนวนที่ป.ป.ช.นำมาในครั้งนี้ เป็นคนละส่วนกับสำนวนคดีอาญาของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว แต่เป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน
วันนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะนำทรัพย์สินที่ยึดได้จากคดี พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และพวกกว่า 2,000 รายการ ขึ้นแสดงในเว็บไซต์ ปปง. ก่อนจะเปิดขายทอดตลาดเดือนมีนาคมนี้
ส่วนนโยบายของรัฐบาลในการแจกที่ดินให้แก่ผู้ไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ กรรมการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กล่าวว่า ในการจัดสรรที่ดิน 5 หมื่นไร่ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่มีผู้ครอบครองจำนวน 6 พื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ มุกดาหาร นครพนม และชุมพรนั้น คาดจะมีผู้ที่จะได้รับที่ดิน 8,590 ครัวเรือน ซึ่งในขณะนี้กำลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการจัดสรรที่ดิน
นอกจากนี้ยังมีที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 4 พื้นที่ 4 จังหวัดรวม 4,680 ไร่ ในจังหวัดชุมพร อุทัยธานีกาฬสินธุ์ และจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาสภาพพื้นที่เพื่อจัดสรรพืชเพาะปลูก ตลอดจนเส้นทางคมนาคม และวางระบบน้ำให้ทั่วถึงทุกแปลง โดยบางพื้นที่อาจต้องให้เลี้ยงปศุสัตว์เสริมด้วย
*-*