การติดตั้งถุงยางอนามัยในสถานศึกษา นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวทราบว่าเป็นแนวทางตามแผนยุทธศาสตร์ กรณีที่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา หรือชุมชนใดมีความเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องติดตั้งตู้ซื้อถุงยางฯในโรงเรียนก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือสอบถามมายัง สพฐ.และ สพฐ.ก็ไม่ขัดแย้ง เพียงแต่คงไม่ประกาศเป็นนโยบายลงไปถึงโรงเรียน
ด้าน พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การช่วยให้เยาวชนเข้าถึงอุปกรณ์ ป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ที่ผ่านมาดำเนินการติดตั้งตู้หยอดเหรียญถุงยางอนามัยในสถานศึกษาของอาชีวศึกษา แบ่งเป็น 2 ช่วง คือปี 2547-2551 กรมฯนำร่องเอง ส่วนปี 2556- ปัจจุบัน ทำร่วมกับ สสส. ซึ่งขณะนี้มีการติดตั้งตู้ถุงยางฯในห้องน้ำชายของโรงเรียนอาชีวศึกษา แล้วกว่า 200 แห่ง รวมถึงในชุมชน โดยการเก็บข้อมูลในช่วงปี 2547-2551 พบว่า สถานที่ที่มีการกดถุงยางฯใช้เยอะจะเฉลี่ยอยู่ที่ 140 กล่อง/เดือน พื้นที่กดใช้ถุงยางฯน้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 กล่องต่อเดือน ซึ่งภายใน 1 กล่องจะมีถุงยางอนามัย 2 ชิ้น มีให้เลือก 2 ขนาดคือ 49 และ 52 มิลลิเมตร ส่วนขนาด 54 และ 56 มิลลิเมตร จะเป็นไซส์ฝรั่งจะแจกตามสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนการดำเนินงานจะให้ต้นทุนโดยแจกถุงยางอนามัย 100 กล่อง ซึ่งเมื่อมีการกดใช้แล้ว เงินที่ได้จะให้ผู้ดูแลเครื่องนำไปซื้อถุงยางอนามัยมาเพิ่ม
แม้ไม่มีการวัดผลในอาชีวศึกษาว่าช่วยลดการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้มากน้อยขนาดไหน เนื่องจากไม่ได้มีการติดตาม แต่ที่เห็นชัดเจนคือเด็กใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการรู้จักป้องกันตนเอง