การเลือกตั้งในเยอรมนีเมื่อวานนี้ หน่วยลงคะแนนเปิดระหว่างเวลา 08.00-18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอาทิตย์ หรือเวลา 13.00-23.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย เป็นการเลือกตั้งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี หรือ นับตั้งแต่ปี 2548 ที่นายกฯ อังเกลา แมร์เคิล ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก ในฐานะสมาชิกอันดับ 1 เพื่อลงชิงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน ในนามตัวแทนพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี (CDU) เป็นพันธมิตรกับพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) หมายความว่า เยอรมนีจะมีผู้นำรัฐบาลหน้าใหม่
เอ็กซิตโพลของสถานี ARD พรรคโซเชียล เดโมเเครต SPD ฝ่ายซ้าย-กลาง ภายใต้การนำของ นายโอลาฟ ชอลซ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ร้อยละ 25.5 ส่วนพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี CDU/CSU ฝ่ายขวา-กลาง ที่มีนายอาร์มิน ลาเชต เป็นหัวหน้าพรรคแทนนางแมร์เคิล ทำคะแนนได้ต่ำสุด คือ ร้อยละ 24.5 ดิ่งวูบจากเมื่อ 4 ปีก่อนที่ทำได้ 32.9%
ส่วนเอ็กซิตโพลของสถานี ZDF ออกมาคล้ายกัน คือพรรค SPD ได้ 25.7% ส่วนพรรค CDU/CSU ได้ 24.6% ตามมาด้วยพรรคกรีน 14% และ พรรคฟรีเดโมแครตส์ ที่สนับสนุนใกล้ชิดภาคธุรกิจได้ 12% ด้านพรรคขวาตกขอบ หรือ อัลเทอร์เนทีฟ ฟอร์ เยอรมนี ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดต้องการทำงานด้วย ได้ที่นั่งลดลง เหลือ 11% น้อยกว่าเมื่อปี 2560 ที่มีส.ส.เข้าสภาได้ครั้งแรก 12.6%
ผลการเลือกตั้งดังกล่าวมีความสูสี นับเป็นผลการเลือกตั้งที่เยอรมนีไม่เคยเจอมาก่อนว่า พรรคที่จะเป็นแกนนำรัฐบาล มีสัดส่วนชัยชนะน้อยกว่า 31%
พรรคที่มีคะแนนดีที่สุดอาจไม่ใช่สิ่งรับประกันได้ว่า หัวหน้าพรรคนั้นจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ สถานการณ์นี้ทำให้นางแมร์เคิลต้องรักษาการผู้นำประเทศต่อไป จนกว่าจะตั้งนายกฯคนใหม่ได้ลงตัว
นักวิเคราะห์ เชื่อว่า อาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือน ในการเจรจาต่อรองตั้งรัฐบาลผสม ทำให้นางแมร์เคิล จะทำหน้าที่นายกฯ รักษาการไปจนกว่าจะมีผู้ได้รับเสียงข้างมากสนับสนุนให้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯคนต่อไป
ชาวเยอรมัน ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งประมาณ 60.4 ล้านคน จะลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาแห่งชาติชุดใหม่ทั้ง 598 ที่นั่ง คาดการณ์ว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยน่าจะใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าผ่านระบบไปรษณีย์ เนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
#เลือกตั้งเยอรมนี