หลังการสัมมนา " หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมืองและสถาบันการเมือง" ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และได้เชิญพรรคการเมืองต่างๆเข้าให้ความเห็นนั้น นาย นิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญนี้เปรียบเสมือนการแก้ปัญหาอดีต โดยไม่ได้สนใจปัญหาใหม่ที่จะตามมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาหลายๆอย่าง เช่น ความยุ่งยากของระบบการเลือกตั้ง การให้อำนาจที่มากขึ้นกับวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม เพื่อหวังจะมาสร้างสมดุล แต่กลับไม่มีผู้ใดคอยค้านอำนาจ เปรียบเสมือนดาบสองคม แม้จะยอมรับว่าตัวเองเห็นด้วยกับการมีวุฒิสภาจาการเเต่งตั้ง แต่ก็เห็นว่าควรลดอำนาจให้น้อยลง เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใด
ส่วนการจัดตั้งสมัชชาพลเมืองและสมัชชาคุณธรรมนั้น ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะจะเป็นการตรวจสอบบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกทางหนึ่ง ส่วนที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้มาจากกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองนั้น เห็นว่าควรเป็นกลุ่มการเมือง สังกัดพรรคการเมือง เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆที่เชื่อว่าจะเกิดตามมาแน่นอน
ขณะที่ พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวาณิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ระบุว่า จากการสัมมนา ทุกฝ่ายระบุตรงกันว่า ต้องการให้การเลือกตั้งกำจัดปัญหาการทุจริตได้ และก็ยอมรับกับระบบสภาผู้แทนราษฎรแบบผสม แต่ก็ได้ขอให้ระบุถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีให้มีความชัดเจนกว่านี้ ส่วนการยกเลิกที่มาของสภาผู้แทนราษฎรที่เคยกำหนดให้บุคคลไม่สังกัดพรรคการเมืองลงรับสมัครเลือกตั้งได้ เป็นการยกเลิกเพื่อป้องกันปัญหาด้านวินัย และให้มีการควบคุมกันเองในกลุ่มการเมืองเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมาด้วย