เลขาฯ กพฐ.ให้ความมั่นใจผู้ปกครอง เด็กฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ยี่ห้อไหนก็เรียน On Site ได้

24 กันยายน 2564, 13:26น.


          เป้าหมายการเปิดเรียน On Site  1 พ.ย.64 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข เตรียมแผนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มเด็กนักเรียน12-17 ปี เริ่มต้นฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในวันที่ 4 ต.ค.64


          ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชี้แจงว่าโรงเรียนในแต่ละจังหวัดที่ไม่มีปัญหาเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 เปิดการเรียนการสอน On Site อยู่แล้ว ยกเว้น โรงเรียนในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ซึ่งการกลับมาเปิดเรียนอีกครั้งจะต้องมีขั้นตอน ดังนี้


1.โรงเรียนที่จะเปิดต้องประเมินความพร้อม เช่น ในเรื่องสถานที่ ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่  ครูและนักเรียนได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขครบหรือไม่ กำหนดว่าโรงเรียนที่จะเปิดได้ เด็กนักเรียนร้อยละ 85 ต้องฉีดวัคซีนครบ ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษาในภาพรวมฉีดวัคซีนแล้วเป็นส่วนมากเหลืออีกร้อยละ 30 จะครบถ้วน 


         ดร.อัมพร ยืนยันว่า การที่เด็กจะฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไร เช่น วัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม ก็สามารถมาเรียนได้ เนื่องจากเป็นความประสงค์ของผู้ปกครองและต้องสมัครใจ เพราะผู้ปกครองประเมินแล้วว่ามีความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ห้าม เนื่องจากวัตถุประสงค์ต้องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเด็กมากที่สุด เพราะต้องการให้เปิดเรียนและให้เด็กกลับไปเรียนให้เร็วที่สุด หากเด็กคนไหนไม่ฉีดก็สามารถมาเรียนได้ ส่วนการจัดการเรียนการสอน การทำกิจกรรมต่างๆต้องปฎิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข  


2.หากโรงเรียนประเมินความพร้อมผ่านเกณฑ์ เสนอเรื่องไปที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัด จะพิจารณาเป็นรายโรงเรียน


3.เมื่อผ่านเกณฑ์การพิจารณาและเปิดเรียนแล้ว มาตรการต่างๆต้องปฎิบัติตามเกณฑ์และแนวทางการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข


           ประเด็นที่ระบุว่า เด็กที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลลงในแอปพลิเคชัน หมอพร้อม จะมีปัญหาในการไปเรียนและเมื่อไปเรียนแล้วไม่มีบันทึกใน School Pass จะมีปัญหาหรือไม่ ดร. อัมพร กล่าวว่า ขอให้ผู้ปกครองอย่ากังวล เนื่องจาก มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ของแต่ละโรงเรียน ครูประจำชั้น ครูที่ปรึกษา จะต้องสอบถามนักเรียนในแต่ละห้อง แต่ละชั้นอยู่แล้วว่าแต่ละคนได้ฉีดวัคซีนหรือยัง และฉีดยี่ห้ออะไร และในช่วงปลายเดือนนี้ ผู้ปกครองก็ต้องส่งแบบสอบถามอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เด็กๆฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้แต่ละโรงเรียนรู้จำนวนที่ชัดเจนและแน่นอนของเด็กๆอยู่แล้ว


         การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ขอให้ปฎิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ตามแนวทางที่วางไว้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตรวจทุกวัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ความเสี่ยง และ เหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เช่น 7 วันอาจจะตรวจ1 ครั้ง เป็นต้น ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายชุดตรวจ ATK ยอมรับว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใครจะรับผิดชอบ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ห่วงและเร่งรัดให้ได้ข้อยุติ 


         ดร.อัมพร ย้ำว่า จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเปิดเรียน 1 พ.ย.64 หากโรงเรียนไหนยังไม่พร้อมขอให้ปฎิบัติตามขั้นตอนให้พร้อมก่อน จะเป็นลักษณะการทยอยเปิด เนื่องจาก ทุกโรงเรียนไม่ได้ฉีดวัคซีนพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับแผนการฉีดและจำนวนวัคซีนที่จะทยอยเข้ามาด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหา ขอให้แต่ละโรงเรียนปฎิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด


          ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลการบันทึกการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะรวบรวมส่งข้อมูลเข้ามาในระบบเพื่อเชื่อมโยงกับหมอพร้อม ทำให้ข้อมูลอยู่ในระบบ


          ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศจะมีปัญหาหรือไม่ มองว่า ไปได้ไม่มีปัญหา เนื่องจากเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ เช่นในโซนยุโรปก็จะต้องไปฉีดวัคซีนที่ประเทศนั้นอยู่แล้ว


          ความกังวลว่าจะเกิดผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ไม่ต้องกังวลจากวัคซีนเชื้อตายมีเปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าอยู่แล้ว ส่วนการเตรียมวัคซีนเป็นไปตามแผน 


 


#เปิดเรียน


#ฉีดวัคซีนโควิด19


แฟ้มภาพ : กรุงเทพมหานคร


 


 


 
ข่าวทั้งหมด

X