ความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ตามแนวทางของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง (คศป.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธาน คศป. และหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า แนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองฯ เป็นแนวคิดที่สืบเนื่องมาจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ 10 ซึ่งในเบื้องต้นจะระบุให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีระยะเวลาศึกษาและจัดทำแนวทางการสร้างความปรองดองเป็นเวลา 5 ปี มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 14 คน แบ่งเป็นคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นกลางจำนวน 9 คน และคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายรวมกัน 5 คน ซึ่งมีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) นิรโทษกรรม รวมไปถึงพระราชกฤษฎีกา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะใช้วิธีใดในการคัดเลือกคณะกรรมการทั้ง 14 คนรวมทั้งไม่ได้ลงรายละเอีดยว่าจะนิรโทษกรรมให้กับบุคคลใดบ้าง โดยต้องหารือกันอีกครั้ง แต่ยืนยันว่า จะไม่นิรโทษแบบเหมาเข่งทั้งหมด และในวันพุธนี้จะนำเรื่องเข้าพูดคุยกับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราว่าด้วยหมวดการสร้างความปรองดองและการปฎิรูป
นายเอนก ยังระบุว่า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรม เพราะมีรัฐบาลที่เป็นกลาง แต่การสร้างความปรองดอง จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบและเหมาะสม เพื่อให้นำไปใช้ได้จริงและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งจากการพูดคุยกับตัวแทนพรรคเพื่อไทย ก็ยอมรับหากไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับแกนนำพรรค ส่วนเรื่องการเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาพูดคุยนั้น ส่วนตัวไม่ทราบว่าจะมีวิธีติดต่ออย่างไร เพราะทักษิณหลบหนีอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ยืนยันว่าหากจะมีการทำความเข้าใจกันต้องใช้วิธีการเจรจาบนโต๊ะอย่างเปิดเผยเท่านั้น
..ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร