นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม พร้อมรองผู้อำนวยการ 4 คน เปิดเผยผลการทำงาน 130 วันของโรงพยาบาลบุษราคัม รวมทั้งหอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน หอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิม ที่อิมแพค เมืองทองธานีว่าดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 20,000 คน แบ่งเป็น โรงพยาบาลบุษราคัม ดูแลผู้ป่วย 20,289 คน หอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน ดูแลผู้ป่วย 92 คน และหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิม ดูแลผู้ป่วย 55 คน
ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่แล้ว พบว่า มีผู้ป่วยไม่เกินวันละ 5 คน ต่อเนื่องกันเป็นสัปดาห์ ขณะที่ผู้ป่วยรายเก่า รักษาหายทยอยเดินทางกลับบ้านหมดแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.ย.64 จึงมีการปรึกษากับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขว่าโรงพยาบาลรับคนไข้น้อยลง จึงขอปิดการให้บริการ พร้อมทั้งจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รับการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อต่อเนื่องต่อไป
นพ.กิตติศักดิ์ ชี้แจงกรณีที่ระบุว่าแม้จะปิดโรงพยาบาลบุษราคัม แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังพบผู้ติดเชื้อ จะดูแลอย่างไร ยืนยันว่า เตียงของโรงพยาบาลมีเพียงพอจะไม่กระทบกับการดูแลผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ขอขอบคุณประชาชน เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีส่วนช่วยในภารกิจดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลบุษราคัม
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวถึง การทำงานของโรงพยาบาลว่าระหว่างวันที่ 14 พ.ค.-20 ก.ย.64 รับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสะสม 20,432 คน การตั้งโรงพยาบาลบุษราคัมเกิดขึ้น เนื่องจาก เมื่อช่วงเดือน เม.ย.64 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากจากการติดเชื้อที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนตกค้างในบ้าน ในชุมชน เพราะไม่มีเตียง ไม่ได้เข้าระบบการรักษา กระทรวงสาธารณสุข จึงตั้งโรงพยาบาลสนามที่สามารถดูแลอาการป่วยในระดับปานกลางได้ และมีการประเมินผลการทำงานเป็นระยะจึงมีการทยอยเปิดเป็นเฟส
-เฟสที่ 1 เปิดเมื่อวันที่ 14 พ.ค.64 จำนวน 1,100 เตียง
-เฟสที่ 2 เปิดเมื่อวันที่ 28 พ.ค.64 จำนวน 1,100 เตียง
รวม 2 เฟส มีเตียงดูแลผู้ป่วย รวม 2,200 เตียง
ในช่วงเดือนก.ค.64 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากและรวดเร็ว เนื่องจากมีการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา
-เฟสที่ 3 เปิดเมื่อวันที่ 4 ก.ค.64 จำนวน 1,500 เตียง
รวม 3 เฟส มีเตียงดูแลผู้ป่วยรวม 3,700 เตียง และในช่วงนั้นโรงพยาบาลรับผู้ป่วยจำนวนมากวันละ 300-400 คน และมีผู้ป่วยที่มีอาการหนักภายในหอผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาล และไม่สามารถส่งต่อได้เนื่องจากโรงพยาบาลอื่นๆก็ไม่มีเตียงรองรับ และดูแลผู้ป่วยหนักเช่นกัน
-ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 64 โรงพยาบาลบุษราคัม ดูแลผู้ป่วยเกินกว่าภารกิจ และมีผู้ป่วยอาหารหนัก รุนแรงสีแดง สีแดงเข้ม ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจชนิด High flow วันละ 200 ตัว ใส่ท่อช่วยหายใจและใส่เครื่องช่วยหายใจประมาณวันละ 10 คน จึงต้องขอเปิดเตียงรองรับเพิ่ม
-4 ส.ค.64 เปิดหอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน มีเตียงรับผู้ป่วยไอซียูได้ 17 เตียง
-1ก.ย. 64 เปิดหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิมอีก 32 เตียง ดูแลผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ ชนิด High flow
#ปิดโรงพยาบาลบุษราคัม
#กระทรวงสาธารณสุข
แฟ้มภาพ