วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการหารือประเด็นด้านพลังงาน อาทิ แผนกำหนดสัดส่วนนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอนาคต การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนและจากภาคอุตสาหกรรมฯ
ส่วนเรื่องการคัดค้านสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งกระทรวงพลังงานที่ประกาศเชิญชวน ให้ยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบกและในทะเลอ่าวไทย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 สิ้นสุดกำหนดการยื่นขอวันที่ 18 กุมภาพันธ์ แต่รัฐบาลขอให้กระทรวงพลังงานขยายเวลาการยื่นขอออกไป เพื่อจัดเวทีรับฟังความเห็นภาคประชาชนวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทางเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยออกแถลงการณ์แสดงความขอบคุณรัฐบาลให้ความสนใจ และเริ่มจะเปิดรับฟังเสียงของประชาชน แต่ในวันนี้ กลุ่มผู้คัดค้านจะมายื่นหนังสือเพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ณ ศูนย์บริการประชาชน
ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยากจน จะประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสรุปมาตรการช่วยเหลือประชาชน ตามที่มอบให้หน่วยงานต่างๆ ไปหาแนวทาง โดยกลุ่มธนาคารรัฐเตรียมเสนอกว่า 20 โครงการช่วยเหลือ ร่วมด้วยเตรียมวงเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อกว่า 2 แสนล้านบาท
วันนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดงานสัมมนาหัวข้อ "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" ที่รัฐสภา โดยมีพรรคการเมืองเข้าร่วมการสัมมนา 43 พรรค
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งนัดประชุมสมาชิก สนช.ในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีวาระพิจารณาร่างกฎหมาย 7 ฉบับ อาทิ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง , ร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นผู้เสนอ และฉบับที่ประธานป.ป.ช.เป็นผู้เสนอและร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารในวาระ 2-3
นอกจากนี้ ตัวแทนจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราให้สมาชิก สนช.ได้รับทราบเป็นครั้งแรก
ส่วนพล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช สมาชิก สนช.ในฐานะเลขานุการ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร คาดว่าที่ประชุม สนช.น่าจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขในวาระ 2-3 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ โดยยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องตามประมวลกฎหมายอาญาและมีความทันสมัยมากขึ้น
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ จะเริ่มการพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง โดยตั้งใจจะพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ โดยหมวดการปฏิรูปเนื้อหาบางส่วนนั้น กมธ.ยกร่างฯได้ขอความเห็นไปยัง กมธ.ปฏิรูปของ สปช. 18 คณะ เสนอความเห็นว่าต้องการให้ประเด็นใดถูกบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญด้วย เบื้องต้นมีกมธ.ปฏิรูปของสปช.ส่งความเห็นมายังกมธ.ยกร่างฯแล้ว 9 คณะ
ด้าน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้รับผิดชอบหมวดการปรองดอง เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ จะประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน มีคุณสมบัติไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด กับมีตัวแทนของฝ่ายคู่ขัดแย้งจำนวน 5 คน ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างความปรองดองในระยะยาว แก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยกฎหมาย แต่เรื่องนี้ยังเป็นเพียงตัวร่างบทบัญญัติที่เตรียมจะเสนอเข้าที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯเท่านั้น ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการปรองดองจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกคนต้องพูดคุยกัน
ทั้งนี้ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี หารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยตรงทั้งต้องคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงคู่ขัดแย้งกลุ่มการเมือง แกนนำ นปช. แกนนำ กปปส. ว่ามีสิ่งใดที่สามารถทำได้หรือไม่ได้ เพื่อให้การปรองดองเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องที่มีการจับกุมผู้ชุมนุม 4 คนที่จัดการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯและพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัวไปโดยมีเงื่อนไขว่าหากทั้ง 4 คนจัดกิจกรรมในลักษณะที่ขัดคำสั่ง คสช. จะริบเงินประกันและควบคุมตัวทันที โดยวันนี้เจ้าหน้าที่นัดผู้ต้องหาทำสำนวนส่งฟ้องศาลทหารต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายอานนท์ นำภา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของผู้ต้องหา โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าไม่ยอมรับเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อและยืนยันว่ากลุ่มจะเคลื่อนไหวต่อไปอีกแน่นอน
*-*