ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ..เพื่อให้เป็น พ.ร.ก.โรคติดต่อ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เป็นการเห็นชอบแต่ละประเด็น ไม่มีการนำเสนอตัวร่าง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้เสนอตัวร่างแต่เสนอความต้องการไป ดังนั้น จึงมีการแก้ไขและเพิ่มมาตรา44/13 ใจความสำคัญ เกี่ยวกับการป้องกันเจ้าหน้าที่ บุคลากรการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโควิด-19 แต่ไม่รวมคณะผู้บริหาร เช่น รัฐมนตรี โดยมีผลย้อนหลังไปถึงเดือน มี.ค.2563 ยืนยันว่า ไม่ได้มีการนิรโทษกรรม เพราะตามหลัก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครอบคลุมอยู่แล้ว ทั้งนี้ (ร่าง)พ.ร.ก.โรคติดต่อ ก็มีการเพิ่มโทษปรับในผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับโรคติดต่อที่มากขึ้นด้วย
"ร่างตัวนี้ เมื่อผ่านมติ ครม.แล้ว จากนั้นจะออกเป็น พ.ร.ก.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการลงนาม แต่จะลงนามเมื่อไหร่ก็ขึ้นอยู่กับนายกฯเห็นชอบตามความเหมาะสม ซึ่งทุกคนก็จะได้เห็นตัวประกาศพร้อมกันในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.โรคติดต่อ ดังกล่าวแล้ว อำนาจสั่งการจะอยู่ที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ โดยที่ในภาวะฉุกเฉินจะมีโครงสร้างใหม่ คือ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ส่วนคณะกรรมการต่างๆ ประกอบด้วย รมว. และรมช. กระทรวงมหาดไทย รมว.และรมช. สาธารณสุข รวมถึงปลัดกระทรวงฯ ด้วย
นายสาธิต กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ อยู่ในระหว่างปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อย หลังจากนั้นก็จะนำเข้าสภาฯขณะนี้จึงออก พ.ร.ก. มาใช้ก่อน ในอนาคตหากแล้วเสร็จก็จะมีการประกาศใช้ต่อไป
ก่อนหน้านี้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืนยันว่า วันนี้ครม. เห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. … (พ.ร.ก.ควบคุมโรค) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาด ในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว และสามารถตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาเป็นกลไกดำเนินงานได้
ปัจจุบันยังเป็นการบริหารราชการภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ครม. ไม่ได้มีการพูดถึงจะยุบศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)และยกเลิก พ.ร.ก ฉุกเฉิน ตามที่มีบางสื่อรายงานข่าวไป
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.ก.ฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนการพิจารณาต่อ พ.รก.ฉุกเฉิน หรือไม่ ศบค.และ ครม.จะพิจารณาต่อไป
#พระราชกำหนดโรคติดต่อ
#โควิด19