ชาวกัมพูชาสนใจเรียนภาษาไทย

15 กุมภาพันธ์ 2558, 19:58น.

หลังการแถลงข่าวประจำปี 2558 ของบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เมื่อวานนี้ วันนี้ทางบริษัท วิริยะประกันภัย ได้นำสื่อมวลชนเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชาต่อภายใต้แนวคิด "วิริยะเปิดเส้นทางเออีซี ตามรอยวิถีอารยธรรมขอม"
ขณะที่การเรียนการสอนภาษาไทยที่วัดช้างเผือก หรือวัดดำเรยซอ(ชื่อท้องถิ่น) ที่พระตะบอง ก็มีชาวกัมพูชาสนใจเรียน
พระอาจารย์ เนียม รฐา ผู้สอนภาษาไทย เล่าให้ฟังว่า วัดเริ่มสอนมาได้ 1 ปีแล้ว มีผู้เรียนรวมในขณะนี้ 15 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยและคนวัยทำงาน นอกจากสอนภาษาไทยแล้ว ยังสอนภาษาอังกฤษ เกาหลี ฝรั่งเศส และเยอรมันด้วย โดยพระอาจารย์จะสอนเพียงภาษาไทยและอังกฤษ ส่วนภาษาอื่นจะมีครูชาวต่างชาติมาสอน ทำการสอนทุกวันแล้วแต่ตารางเรียน เสียค่าเรียน 3-5 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐต่อครั้ง โดยการสอนภาษาไทยจะมีแบบเรียนฝึกเหมือนไทย เน้นสอนให้ผู้เรียนอ่านออก เขียนและสื่อสารได้ เพราะผู้เรียนส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เรียนเพื่อไปทำงานต่อที่ประเทศไทย แต่ก็ระบุว่ามีบางคนที่มาเรียนเพราะเห็นว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเสียงนุ่มนวลและไพเราะ ส่วนผู้เรียนที่มี 15 คนนั้น ส่วนใหญ่เลือกเรียนภาษาอังกฤษ เพราะนำไปใช้ได้ในทุกประเทศ
ส่วนนาย เริ่น ราดี นักเรียนภาษาไทย้ กล่าวว่า เรียนภาษาไทยมาสามเดือนแล้ว แต่ยังพูดได้แค่บางคำ เหตุที่เรียนเพื่อจะไปทำงานที่ไทยในอนาคต หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว ส่วนตัวเองนั้นพูดได้สองภาษาคือ ภาษากัมพูชาและภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ทางบริษัท วิริยะประกันภัย ยังได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าร่วมถวายผ้าป่าและสังฆทานที่วัดช้างเผือก ซึ่งสร้างในสมัยเจ้าฟ้าอภัยภูเบศร์ ช่วงปี พ.ศ. 2437 ที่มีอายุกว่า 120 ปีด้วย
พร้อมเยี่ยมชมอดีตศาลาว่าการเมืองพระตะบอง ที่ออกแบบโดยใช้ศิลปกรรมยุโรปผสมเอเชีย มีรูปทรงคล้ายกระทรวงกลาโหมของไทย โดย นาย มานี ภูมา มัคคุเทศก์ชาวกัมพูชา เล่าว่า ศาลาว่าการนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยเจ้าฟ้าอภัยภูเบศร์ หรือที่ชาวกัมพูชาเรียกว่า คฑาธอนชุม ในช่วงปีพ.ศ. 2443 แต่ศาลาว่าการนี้ถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้ว 10กว่าปี และย้ายไปทำการที่ใหม่ที่ตั้งห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร ส่วนในศาลาว่าการนี้ก็ไม่ได้มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม หากต้องการเข้าชมต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน
ข่าวทั้งหมด

X