ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของสหราชอาณาจักรและนายกรัฐมนตรีสก็อต มอริสันของออสเตรเลีย ระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ประกาศข้อตกลงความมั่นคงครั้งประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเรียกว่า ออคัส(Aukus)เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความเจริญในภูมิภาค ระบุว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีภัยคุกคามต่างๆที่กระทบความมั่นคงของภูมิภาคนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้นำทั้ง 3 ไม่ได้เอ่ยชื่อจีนตรงๆ
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มองว่า เป็นความพยายามของพันธมิตรทั้ง 3 ที่จะเข้ามาคานอิทธิพลทางทหารของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อีกทั้งเป็นการจับมือเป็นหุ้นส่วนด้านกลาโหมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
สาระสำคัญของข้อตกลงนี้คือ การช่วยให้ออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก โดยใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ จะมีผลให้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ 7 ของโลกที่มีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ต่อจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ประเทศจีน อินเดียและรัสเซีย พร้อมทั้งยกเลิกสัญญาจ้างฝรั่งเศสสร้างเรือดำน้ำ 12 ลำรวมมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หลังการลงนามกับฝรั่งเศสในปี 2559 หลังมีปัญหาล่าช้าในการก่อสร้างเรือดำน้ำเรื่อยมา
ที่ผ่านมา จีนถูกกล่าวหาว่าสร้างความตึงเครียดเรื่องอาณาเขตกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ ทับซ้อนกับเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ ตลอดถึงการลงทุนสร้างเรือรบขนาดใหญ่และเรือลาดตระเวน ซึ่งสหรัฐฯและมหาอำนาจจากยุโรป มองว่า เป็นการแผ่อิทธิพลทางทหาร นอกจากนั้นประเทศจีนมีปัญหาพิพาทด้านการค้ากับออสเตรเลีย ต่างฝ่ายต่างคว่ำบาตรการค้าต่อกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
#พันธมิตรออคัส
#คานอิทธิพลทางทหารของจีน