รองอธิบดีกรมชลฯ ยืนยันพร้อมรับสถานการณ์น้ำช่วงปลายฤดูฝน เก็บน้ำช่วงฤดูแล้ง

15 กันยายน 2564, 15:14น.


           ช่วงปลายฤดูฝนแบบนี้ กรมชลประทานเตรียมพร้อมทั้งการรับสถานการณ์น้ำในช่วงท้ายฤดูฝน และการเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง คาดว่า จะเข้าช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งช่วงนี้ฝนจะไปตกท้ายเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เพราะความกดอากาศต่ำยังอยู่ที่ภาคกลางตอนล่างไปถึงภาคตะวันออก ก่อนหน้านี้ มีฝนตกน้ำท่วมที่ จ.สมุทรปราการ อ.กบินทร์บุรี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี


         สัปดาห์หน้า ความกดอากาศต่ำจะเลื่อนขึ้นด้านบน ทำให้ฝนย้ายไปตกช่วงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และช่วงนี้ความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ต่อเนื่องไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และน่าจะเป็นแบบนี้ไปถึงสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ตลอด


         นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกับจส.100 ในการลงพื้นที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทว่าในช่วงนี้เหลืออีกเดือนเดียวก็จะหมดฤดูฝนแล้ว แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำ แหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ขณะนี้มี 35 แห่ง ขนาดกลางอีกกว่า 400แห่ง ภาพรวมของสถานการณ์น้ำขณะนี้จัดอยู่ในเกณฑ์ดี สิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวัง คือ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด ซึ่งจะมีเขื่อนหลักๆคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำจะอยู่ที่ 3,100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเมื่อเทียบดูแล้ว ปีที่ผ่านมาจะมีปริมาณน้ำมากกว่าประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งอีกประมาณหนึ่งเดือนถัดจากนี้ปริมาณฝนน่าจะลดลง และจะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งประมาณวันที่ 1พฤศจิกายน 2564 ซึ่งในช่วงดังกล่าวจะมีน้ำใช้การอยู่ที่ประมาณ 4,500-5,300 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย 




         


(เขื่อนเจ้าพระยา)


         ช่วงปลายฤดูฝนนี้ ฝนจะตกท้ายเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ เนื่องจาก ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ต่อเนื่องภาคตะวันออก ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกและน้ำท่วมที่ จ.สมุทรปราการ และฝนตกที่ อ.กบินทร์บุรี และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี  ทำให้เกิดน้ำท่วมที่ตลาดเก่า ซึ่งในอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ถัดจากนี้ ร่องความกดอากาศต่ำดังกล่าวจะขยับตัวขึ้นไปด้านบน และจะทำให้ฝนไปตกช่วงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 


         สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในขณะนี้คือหย่อมความกดอากาศต่ำที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีโอกาสเกิดเป็นพายุช่วงระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2564 


         ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมด เช่น การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง การเตรียมกำลังคน เครื่องจักรเครื่องมือ ส่วนปริมาณน้ำในคลองต่างๆนั้นพร้อมที่จะรองรับมวลน้ำที่จะพาดผ่านเข้ามาได้ตลอด เช่น ถ้าฝนตกที่แม่น้ำยมตอนบน(จ.แพร่) ก็จะมีประตูหาดสะพานจันทร์คอยกักน้ำไม่ให้เข้าสู่ จ.สุโขทัย เกินกำหนด จากนั้นจะผันน้ำไปทางคลองหกบาท ให้ต่อเนื่องลงสู่แม่น้ำน่าน ส่วนเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อย ได้สั่งการให้หยุดการระบายน้ำแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกักเก็บน้ำเพื่อไว้ใช้ในช่วงน้ำน้อย


 


 


#กรมชลประทาน


#บริหารจัดการน้ำ


#เก็บน้ำใช้ในหน้าแล้ง


 


 


 
ข่าวทั้งหมด

X