อธิบดีกรมอนามัย ย้ำมาตรการ Sandbox Safety Zone In School ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ปรับให้เหมาะกับพท.ตัวเอง

14 กันยายน 2564, 14:30น.


         นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ชี้แจงเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเด็กนักเรียน และกลุ่มเด็กวัยเรียนว่าตั้งแต่เดือนเม.ย.-ส.ค.64 พบตัวเลขเพิ่มขึ้น จากการติดเชื้อในครอบครัว และ การเดินทางไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยัน เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเปิดให้เด็กๆกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้งจึงต้องมีการฉีดวัคซีนให้เด็กและบุคลากรทางการศึกษา และที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และ ระดับจังหวัด เป็นต้น 


-การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข็มที่ 1และเข็มที่ 2 รวมแล้วกว่า 8 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 88.3 และยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกว่าแสนคน คิดเป็นร้อยละ 11.7 


-ข้อมูลการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคประจำตัว  เมื่อวันที่ 11ก.ย. 64 พบว่า ฉีดเข็ม 1 จำนวน 74,932 คน  เข็ม 2  จำนวน 3,241 คน   


         การจัดวางมาตรการเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเด็กและครู รวมทั้งคนที่เกี่ยวข้องเมื่อมีการเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง อธิบดีกรมอนามัย ชี้แจงมาตรการ Sandbox Safety Zone In School เช่น


-โรงเรียน ครู และ เด็กนักเรียน ต้องมีการจัดทำผลการตรวจคัดกรองการตรวจหาเชื้อ เช่น การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ข้อมูลการฉีดวัคซีน การประเมินการคัดกรองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus  เป็นต้น 


*การตรวจด้วยชุด ATK สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สนับสนุนชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด จะเริ่มดำเนินการแจกให้วันที่ 16 ก.ย.64 ผ่านสถานพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งจะประสานต่อไปยังโรงเรียน ถ้าประเมินแล้วมีความเสี่ยงก็รับชุดทดสอบนี้ได้ ส่วนที่สองเชื่อว่าจะมีราคาที่ลดลงและจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับส่วนท้องถิ่นและคณะกรรมการโรงเรียนเข้ามาสนับสนุน ขึ้นอยู่กับการหารือร่วมกันของโรงเรียน ผู้ปกครอง และ จังหวัด และหัวใจที่สำคัญคือ Universal Prevention ในการอยู่ร่วมกับโควิด-19


*การตรวจ ATK จะมีความแตกต่างกัน โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดแตกต่างกัน ความถี่ในการตรวจต่างกันด้วย เช่น เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดมาก ควรจะตรวจถี่มากขึ้น 


-นอกจากการคัดกรองภายในโรงเรียนแล้ว จะต้องมีการคัดกรอง ร้านที่อยู่รอบรั้วโรงเรียนในระยะ 10 เมตร รวมทั้งรถเร่ ที่มาขายของหน้าโรงเรียนด้วย 


-การจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมในห้องเรียน ควรจัดพื้นที่ไม่ให้แออัด เด็กนักเรียนห้องละ 25 คน เพื่อลดการสัมผัส และที่สำคัญ การจัดระบบระบายอากาศ เป็นเรื่องสำคัญมาก 


*จากปัญหาที่ผ่านมาที่พบการติดเชื้อในกลุ่มเด็กนักเรียน เนื่องจาก ส่วนมากไม่ปฎิบัติตามมาตรการในการป้องกัน พบว่า โรงเรียนประจำส่วนหนึ่งที่พบการติดเชื้อ เนื่องจาก ไม่มีแผน Sandbox Safety Zone In School มีคนนอกเข้า-ออก  ครูเดินทางไป-กลับ แต่ไม่คัดกรองความเสี่ยง หอพักมีความแออัด  


-การเดินทางไป-กลับ ก็มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นรถสาธารณะ หรือรถส่วนตัว ควรเดินทางเป็นแบบ Seal Route  


-การจัดทำแผนเผชิญเหตุ พร้อมทั้งมีการซักซ้อม หากพบกรณีการติดเชื้อ จะมีแนวทางทำอย่างไร 


         มาตรการต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขกำหนดร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ครอบคลุมโรงเรียนทุกสังกัด ขอให้โรงเรียน สถานศึกษา ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เนื่องจากมีการระบาดไม่เหมือนกัน 


 


#มาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงเรียน


แฟ้มภาพ 


 
ข่าวทั้งหมด

X