หลังสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์จี้ให้รัฐบาลไทย เลิกใช้ศาลทหารดูคดีพลเรือน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อียูอาจได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะข้อเท็จจริงแล้ว การดำเนินคดีกับพลเรือนที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารนั้น จะบังคับใช้เฉพาะกับความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือความผิดจากการฝ่าฝืนกฎอัยการศึกเท่านั้น
ในกรณีของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องขึ้นศาลทหารนั้น เพราะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคสช.ที่เรียกให้มารายงานตัว ซึ่งเป็นไปตามกฎอัยการศึก แต่นายจาตุรนต์กลับหนี จึงต้องเข้าสู่กระบวนการศาลทหารซึ่งไม่ถือว่าเป็นคดีการเมือง แต่คนอื่นๆ เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายเสรี วงษ์มณฑา ที่มารายงานตัว ก็ไม่ได้ถูกนำตัวขึ้นศาลทหารแต่อย่างใด แต่สุดท้ายนายจาตุรนต์ ก็ได้รับการประกันตัว ถือว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันกับคนอื่น ๆ ดังนั้นอย่ากังวลว่าผู้บังคับบัญชาทหารจะไปสั่งควบคุมตัวพลเรือนได้
ส่วนที่มีการเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คว่ำการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ขององค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ นั้น พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่มีการแก้ไขให้มีมาตรฐานเดียวกับวิธีพิจารณาความในคดีอาญาของพลเรือน ที่ระบุให้ศาลสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 84 วัน เนื่องจากเดิมศาลทหารมีอำนาจในการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ทหารได้ถึง 90 วัน จึงแก้ไขให้เป็นมาตรฐานเดียวกับพลเรือน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในอำนาจของศาล ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาทหาร แต่จำเป็นต้องเขียนระบุว่าผู้บังคับบัญชาทหารมีสิทธิที่จะควบคุมตัวได้ในเฉพาะกรณีที่เป็นเหตุสุดวิสัย หรือมีความจำเป็นเท่านั้น เป็นการให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหาร สั่งควบคุมตัวผู้กระทำผิดได้ จนกว่านำตัวมาฝากขังศาลทหาร ซึ่งในพื้นที่ปกติผู้บังคับบัญชาทหารไม่สามารถสั่งควบคุมตัวพลเรือนได้