วันนี้เป็นวันที่ 10 ก.ย.ซึ่งทุกปีจะตรงกับวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกหรือ World Suicide Prevention Day ซึ่งเป็นวันที่ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตาย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนสนใจเรื่องปัญหาการฆ่าตัวตายมากขึ้น เนื่องจากทั่วโลกประสบวิกฤตขนาดใหญ่ คือ มีการระบาดของโรคโควิด -19
จากข้อมูลฐานใบมรณะบัตร ฐานข้อมูลการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล และระบบรายงานการฆ่าตัวตาย พบว่าแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2563-2564 ตั้งแต่มีการระบาดโควิด และประสบการณ์ที่ได้จากวิกฤตต้มยำกุ้ง จะพบว่าแม้อัตราผู้ป่วยโควิดลดลงเรื่อย ๆ แต่การฆ่าตัวตายหลังภาวะวิกฤตยังคงอยู่อีกระยะหนึ่ง โดยฐานข้อมูลมรณบัตร ปี 63 อยู่ที่ 7 ต่อแสนประชากร มีการคาดการณ์ว่าหากไม่ทำอะไรจะขึ้นไปที่ 9 ต่อแสนประชากร แต่เรายังหวังว่าจะคงอัตราอยู่ที่ 8 ต่อแสนประชากร แต่ตัวเลขสัมพัทธ์ ซึ่งมีการรวมข้อมูลใหม่ จะเห็นว่าปี 63 นั้น แตะที่ 10 ต่อแสนประชากร ไม่ใช่ 7 ต่อแสนประชากร และปี 64 ก็น่าจะแตะที่ 10 ต่อแสนประชากรเหมือนกัน
ขณะนี้ มีการเฝ้าระวังทั่วประเทศ แต่เฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 25 จังหวัด อาทิ ลำพูน กาฬสินธุ์ สงขลา นครสวรรค์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ ที่อิงข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน กรณีคนตกงาน ว่างงาน ขาดรายได้ ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นงานยาก เพราะด้วยสถานการณ์โควิด ส่งให้มีปัญหาการฆ่าตัวตายมากขึ้น และกลุ่มนี้เมื่อมีปัญหาก็ไม่เข้าระบบสุขภาพ ไม่เหมือนกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยเดิม ดังนั้นจะต้องใช้การประสานงานร่วมกันของหลายฝ่าย ใช้ทีมสุขภาพจิตเคลื่อนที่เร็ว (MCATT) เข้าไปค้นหาเชิงรุก และเชื่อมต่อเข้าระบบสุขภาพ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันนี้เราพบความตึงเครียดมากขึ้น เศร้า ความอ่อนล้าทางอารมณ์ หากเหนื่อย ท้อ ให้เช็คสุขภาพใจตัวเอง ที่ mental health check-in ทั้งนี้ ย้ำว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ และทุกคน จะช่วยให้คนรอบตัวที่เริ่มอ่อนล้า คิดทำร้ายตัวเอง ยังมีใครคอยประคอง ยังอยากเจอเขาในวันพรุ่งนี้ เรายังอยากเจอกัน อยากผ่านปัญหาไปด้วยกัน
#วันฆ่าตัวตายโลก