การควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงเรียน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การจัดทำแนวทาง Sandbox Safety zone in School เพื่อให้โรงเรียนและนักเรียนปฏิบัติตามมาตรการของ สธ.ที่กำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยกรมอนามัย ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สรุปผลการดำเนินงาน จากโรงเรียนที่เข้าร่วม Sandbox Safety zone in School จำนวน 68 แห่ง พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 48 แห่ง และมีโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการแต่มีการเปิดเรียนโดยหย่อนมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ที่พบบ่อยได้แก่
1.โรงเรียนประจำยังมีบุคลากรภายนอก เข้า – ออกภายในโรงเรียน รวมทั้งยังพบครู ยังเดินทางไป-กลับ ไม่มีการคัดกรองความเสี่ยง
2.โรงเรียนไม่มีการจัดระบบ Sandbox Safety zone in school ที่มีประสิทธิภาพ และ
3.อาคารหอพักค่อนข้างแออัด ระยะห่างของเตียงนอนยังไม่ถึง 1 เมตร
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเน้นย้ำมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้อยู่ในหอพัก
นอกจากนี้ สำหรับแนวทางในการจัดการวัคซีนในกลุ่มนักเรียนตั้งแต่อายุ 12-17 ปี ต้องมีการคำนึงถึงหลักฐานทางวิชาการ ประโยชน์ ข้อควรระวัง และความปลอดภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงความพอเพียงของวัคซีนที่จะดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายให้ทันช่วงเดือนตุลาคมนี้ด้วย
นพ.สราวุฒิ ย้ำว่า ขอให้โรงเรียนที่มีการเปิดการเรียนการสอนปฏิบัติตามแนวทาง Sandbox Safety zone in School ด้วยการจำกัดบุคคลเข้าออกโรงเรียนอย่างชัดเจน และจะมีการคัดกรองโดยใช้วิธีแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test kit) เน้นการทำกิจกรรมในรูปแบบ บับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and Seal) ต้องปฏิบัติตามมาตรการของ Thai Stop COVID Plus มีระบบติดตามเข้มงวดของครูและบุคลากรพร้อมเฝ้าระวังสุ่มตรวจทุก 14 วัน หรือ 1 เดือนต่อภาคการศึกษา
ด้านครู บุคลากรทางการศึกษามีการประเมินความเสี่ยงผ่าน Thai save Thai สม่ำเสมอ และเข้มมาตรการด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการทางสังคม เพื่อให้เด็กปลอดภัยจากโรคโควิด-19 และในกรณีที่โรงเรียนมีการเปิดเรียนแล้ว แต่ต้องปิดเรียนเนื่องจากมีการติดเชื้อภายในโรงเรียนต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของ สธ.อย่างเคร่งครัด
#ฉีดวัคซีนโควิดให้เด็ก
#เปิดเทอม