บราซิลเผย ผลวิจัยสารพิษงู อาจยับยั้งโปรตีนในเชื้อไวรัสโควิด-19

01 กันยายน 2564, 20:09น.


          ศาสตราจารย์ ราฟาเอล กุยโด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล บราซิล หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า นักวิจัยบราซิล พบว่า สารโมเลกุลในพิษของงูจาราราคัตสุ(jararacussu) ซึ่งเป็นงูขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในบราซิล สามารถยับยั้งเชื้อโคโรนาไวรัสในเซลล์ของลิงได้ร้อยละ 75 อาจจะเป็นก้าวแรกไปสู่การวิจัยด้านการผลิตยาต้านเชื้อไวรัสป้องกันโรคโควิด-19 ในอนาคต



         ศาสตราจารย์กุยโด ระบุว่า สารโมเลกุลจากพิษของงูสามารถช่วยยับยั้งโปรตีนของเชื้อไวรัสไม่ให้ขยายตัวมากขึ้น แต่ย้ำว่า พิษงูไม่มีผลในการรักษาโรคโควิด-19 โดยขั้นต่อไป นักวิจัยจะประเมินประสิทธิภาพของสารโมเลกุลต่างๆว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าไปสู่เซลล์ของสิ่งมีชีวิตเช่น ลิงหรือไม่



         นอกจากนี้ นักวิจัยจากบราซิลหวังเริ่มทดลองในคนด้วย แต่ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาการทดลองอย่างชัดเจนว่าจะเริ่มต้นเมื่อใด



         สำหรับสารโมเลกุลดังกล่าวมีคุณสมบัติต้านเชื้อไวรัส นักวิจัยจึงสามารถผลิตโดยวิธีการสังเคราะห์ในห้องแล็บ ไม่จำเป็นต้องไปจับงูมาจากป่า หรือเลี้ยงงูชนิดนี้เพื่อทำวิจัยโดยตรง ผลวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อโมเลกุล(Molecules)ในเดือนนี้



          Cr: reuters, straits times

ข่าวทั้งหมด

X