ไม่มีเงินทอน! สธ.แจงไม่มีส่วนต่างซิโนแวค-ซื้อตรงผู้ผลิตเร็วกว่าCOVAX

31 สิงหาคม 2564, 16:31น.


          การอภิปรายไม่ไว้วางใจในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องราคาและการจัดซื้อวัคซีนโควิด นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แถลงชี้แจงที่รัฐสภาคู่ขนานไปพร้อมๆกัน หลังมีการอภิปรายพาดพิงว่า องค์การเภสัชกรรมเป็นนายหน้า เป็นผู้แทนของซิโนแวค (Sinovac) ว่า องค์การเภสัชกรรมมีบทบาทหน้าที่เพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์อยู่แล้ว มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ซึ่งในช่วงวิกฤติ วัคซีนซิโนแวคนั้นองค์การเภสัชกรรมไม่ได้ติดต่อโดยตรง แต่มีบริษัทลูกชื่อ บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด (GPO-MBP) ดีลกับซิโนแวค แต่มีอุปสรรคเพราะทางจีนไม่ยอมทำธุรกิจด้วย จึงเป็นที่มาว่าสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมติดต่อโดยด่วน แต่เดิมนั้นองค์การเภสัชกรรมดีลซิโนฟาร์ม (Sinopharm) แต่พบว่าติดขัดข้อกำหนดมาก ซิโนแวคมีความยืดหยุ่นและทำงานได้เร็วกว่า องค์การเภสัชกรรมจึงเป็นผู้ถือทะเบียนนำเข้าเนื่องจากไม่มีซิโนแวคประเทศไทย และต้องแข่งกับเวลาเพื่อให้คนไทยมีวัคซีนฉีดระหว่างที่รอแอสตร้าเซนเนก้า



          ส่วนเรื่องกรอบราคานั้นก็ถูกลงเรื่อยๆ เราซื้อลอตแรกเพียง 2 ล้านโดส ราคาจึงซื้อแพงกว่าเป็นปกติ แต่ในเวลาต่อมามีการต่อรองราคาและซื้อถูกลงเป็นลำดับ เฉลี่ยแล้วราคาจะอยู่ที่ 11.99 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ เป็นวัคซีนที่หาซื้อได้และพร้อมที่จะขาย ในเรื่องที่บอกว่า มีส่วนต่างนั้น ชี้แจงว่ามีการเข้าใจคลาดเคลื่อนมาก เพราะองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ที่ไปลงทุนซื้อโดยใช้เงินขององค์การเภสัชกรรมไปก่อน แต่ละ Shipment (การจัดส่ง) เป็นพันล้านบาท เมื่อได้มาแล้วก็กำหนดราคาขาย อัตราแลกเปลี่ยนองค์การเภสัชกรรมต้องแบกรับจากค่าเงินบาทอ่อนลง จึงมีการคำนวณราคาขายจริง ณ เวลานั้นที่ส่งมอบให้กรมควบคุมโรค และกรมควบคุมโรคก็จะจ่ายให้เป็น Shipment เพราะฉะนั้นไม่มีส่วนต่างที่ตกถึงองค์การเภสัชกรรม กรอบที่ขออนุมัติเป็นกรอบที่ขอไว้เผื่อ แต่เรียกเก็บตามจริง “องค์การเภสัชกรรม ไม่ได้มีส่วนต่างใดๆ ทั้งสิ้น” ส่วนที่ระบุว่าองค์การเภสัชกรรมไม่ได้ถูกมอบหมายเรื่องวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น ก็เนื่องจากเป็นคนละแพลตฟอร์ม เราทำวัคซีนเชื้อตายเป็นหลัก ซึ่งเป็นคนละเทคโนโลยีกับแอสตร้าเซนเนก้า

          สำหรับประเด็นอภิปรายในสภาฯ ของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านว่า จากราคา 17 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ลงมาเหลือราว 9 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนต่างที่ลดลงนั้น นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเอาเงินใส่กระเป๋าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ตอบว่า กรอบงบประมาณที่ขอไว้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดูแล แต่เมื่อองค์การเภสัชกรรมซื้อมาแล้วขายให้กรมควบคุมโรค ก็มีการกำหนดราคาที่ได้มาจริงและเก็บจากกรมควบคุมโรค โดยบวกค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง ประมาณ 2.4% เท่านั้น ส่วนต่างที่เหลือจากกรอบที่ขอไว้ไม่มีใครได้ เพราะเป็นกรอบวงเงิน

          เรื่องส่วนต่าง นายแพทย์วิฑูรย์ ย้ำในตอนท้ายหลังถูกถามเรื่องส่วนต่าง ว่า “ยืนยันชัดเจนแน่นอน 100% เพราะเราตั้งเบิกไปที่กรมควบคุมโรคตามยอดที่เราซื้อมา ตามราคาขายที่เรากำหนดเท่านั้น”

          ด้านนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึง สัญญาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติรับผิดชอบในการจองซื้อล่วงหน้าว่า เราทำการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 ในสถานการณ์วิจัยพัฒนาวัคซีนจำเป็นต้องมีการจองล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนที่จะได้ผลการทดลองของวัคซีนและมีวัคซีนปรากฏขึ้น ดังนั้น สัญญาการจองซื้อจึงอยู่บนเงื่อนไขที่มีโอกาสจะไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นสัญญาที่เป็นลักษณะเดียวกันที่ประเทศชั้นนำอื่นๆ

          แม้กระทั่งโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ก็ใช้ลักษณะการจองเช่นนี้ คือมีโอกาสที่จะไม่ได้รับวัคซีน หรือมีโอกาสรับช้ากว่ากำหนด เพราะวัคซีนอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนสถานการณ์ปกติ ไม่ได้มีวัคซีนเกิดขึ้นแล้วเพื่อรอการซื้อแบบสินค้าทั่วไป และมีความไม่แน่นอนในการวิวัฒนาการผลิต จึงอยากชี้แจงเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในประชาชนว่า เราไปทำสัญญาที่เสียเปรียบ ทุกคนต้องรับความเสี่ยงร่วมกัน จะเอาพื้นฐานความเข้าใจแบบเดิมมาใช้ในการตัดสินจะไม่เหมาะสมและไม่เข้ากับสถานการณ์

          ส่วนการไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ โดยผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตอบว่าต้องดูตามสถานการณ์ เราตั้งใจจะเข้าร่วม แต่วิเคราะห์สถานการณ์แล้วพบว่าโครงการโคแวกซ์จะส่งมอบวัคซีนได้ล่าช้า ข้อมูล ณ วันนี้ 139 ประเทศที่เข้าร่วม โครงการโคแวกซ์ส่งวัคซีนไปได้ 224 ล้านโดส แต่ละประเทศจะได้รับวัคซีนไปไม่มาก แต่ขณะที่ไทยใช้วิธีการจองซื้อวัคซีนโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิต เราได้รับวัคซีนในจำนวนที่มากกว่า และมีความแน่นอนมากกว่า จะเห็นว่าประเทศไทยตอนนี้เราก็ได้รับวัคซีนที่ส่งมอบมามากกว่า 30 ล้านโดสที่ฉีดให้กับประชาชนแล้ว



          ทั้งนี้ โครงการโคแวกซ์ก็แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เราจะเข้าใจว่าเป็นโครงการเดียว มีทั้งประเทศที่จะได้รับวัคซีนฟรี กับประเทศที่ต้องจ่ายเงินซื้อเอง ประเทศไทยอยู่ในข่ายที่ต้องจ่ายเงินซื้อเอง ดังนั้น การจ่ายเงินซื้อเองกับโครงการโคแวกซ์ กับจ่ายเงินซื้อเองจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เมื่อพิจารณาแล้วเรามีโอกาสจะได้รับวัคซีนจากการเจรจาโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนมากกว่า มีความแน่นอนมากกว่า กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ก็จะเดินหน้าในเรื่องการจัดหาวัคซีนผ่านการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง

          อย่างไรก็ตาม หากโครงการโคแวกซ์มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นและเงื่อนไขต่างๆ เหมาะสม ประเทศไทยก็สามารถที่จะพิจารณาเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ได้ในเวลาถัดไป ไม่ได้เป็นเงื่อนไขว่าเราจะไม่เข้า ทุกอย่างต้องพิจารณาตามสถานการณ์และความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของประเทศ

ข่าวทั้งหมด

X