สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ติดเชื้อขณะนี้ไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเริ่มชะลอตัวลง สัญญาณต่างๆ บ่งชี้ว่าน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง โดยยังต้องขอความร่วมมือมาตรการป้องกันตนเองส่วนบุคคล ไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน ขอบคุณประชาชนที่ร่วมกันควบคุมโรคด้วยความอดทนและเสียสละ แต่เชื้อมีการกลายพันธุ์ หลายประเทศที่ควบคุมได้ดี เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เวียดนาม พบสายพันธุ์เดลตาทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น คาดว่าภายในเดือนธันวาคม เราจะมีวัคซีนประมาณ 140 ล้านโดสทำให้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากกว่า 70%
สำหรับผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และมีผลตรวจปลอดโควิด เมื่อเข้าประเทศไทยยังต้องกักตัวหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้คนมาจากต่างประเทศต้องกักตัว 14 วัน การฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ แต่ไม่ 100% และการตรวจเชื้อเป็นระยะจะตรวจคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการได้ เรามีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ให้ชาวต่างชาติฉีดวัคซีนครบ และมีการตรวจเชื้อเป็นระยะ ก็สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติในช่วงกักตัว 14 วัน ไปไหนมาไหนได้ ผู้เกี่ยวข้องด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะเอามาประเมินอีกที คงมีมาตรการกักตัวที่จะพิจารณาทั้งการฉีดวัคซีน และการตรวจเชื้อเป็นระยะมาใช้ต่อไป ช่วงนี้ยังต้องระวัง เพราะพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเป็นระยะ ยังใช้การกักตัว 14 วัน แต่อาจมีการลดวันกักตัวลง ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
มาตรการ COVID Free Setting ที่เริ่มวันที่ 1 ก.ย.นี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า มาตรการรับมือโควิดมี 2 ส่วน คือ
1.ส่วนบุคคล และ
2.มาตรการองค์กร โดยบางมาตรการเป็นเชิงบังคับ เช่น เคอร์ฟิว การจำกัดคนมาทำกิจกรรมร่วมกัน และบางมาตรการเป็นการขอความร่วมมือ ซึ่งยืนยันว่า ทุกมาตรการต้องอาศัยความร่วมมือ อนาคตถ้าจะอยู่ร่วมกับโควิดความร่วมมือสำคัญมาก ทุกมาตรการที่ออกไปต้องพยายามทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยสุด จึงเสนอมาตรการเปิดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้ ถ้าจะควบคุมโรคให้เป็น 0 ทุกคนก็ต้องอยู่กับที่ ไม่ไปไหนเลยเป็นเวลานาน กระทบกระเทือนการใช้ชีวิตมาก
เมื่อเปิดกิจกรรมเสี่ยงก็ต้องหาวิธีลดความเสี่ยง มี 2-3 เรื่อง คือ
1.ฉีดวัคซีนคนที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมเสี่ยงนั้นๆ
2.ตรวจหาเชื้อเป็นระยะ ที่ง่ายสะดวกทำได้เอง เช่น ATK ซึ่งหลายประเทศในยุโรปดำเนินการแล้ว และ
3.มาตรการส่วนบุคคลหลายมาตรการประชาชนดำเนินการได้ดี โดยเฉพาะการใส่หน้ากาก ส่วนฉีดวัคซีนเรามีเป้าหมายการฉีด ส่วนมาตรการใหม่อย่างตรวจด้วย ATK จำเป็นอาศัยความร่วมมือประชาชนและปริมาณการตรวจที่ต้องมากพอ ถ้ามาตรการนี้เป็นเชิงบังคับทันที คงไม่สามารถทำได้ และเกิดไม่สะดวกกับประชาชน
ดังนั้น ในช่วง ก.ย.เป็นมาตรการเชิงให้คำแนะนำ ขอความร่วมมือมากกว่า หลังจากคุ้นชินแล้ว ยอมรับได้ ทำได้ ฉีดวัคซีน และตรวจ ATK มากพอ ดังนั้น มาตรการที่ออกไปใน ก.ย.เป็นการขอความร่วมมือ และมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมศูนย์การค้าที่มีการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มาตรการที่ออกมาเป็นความร่วมมือ 2 ฝ่าย แม้เราไม่ได้บังคับ แต่สมาคมผู้เกี่ยวข้องยืนยันจะปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งจะส่งผลให้หลัง ต.ค.ที่ทุกอย่างพร้อมทำให้เป็นมาตรฐานใช้ชีวิตใหม่ของเราทุกคน
#โควิด19
#ฉีดวัคซีน