ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ! 'มาร์เบิร์ก ไวรัส' คล้ายไวรัส 'อีโบลา' พบเสียชีวิตรายแรกแล้วที่กินี

14 สิงหาคม 2564, 09:14น.


          กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลไวรัสร้ายอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่กำลังเป็นข่าว และอาจต้องเฝ้าระวังอีกชนิด แม้จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าสถานการณ์เป็นใจ ก็สามารถปะทุขึ้นได้ทุกเวลาเช่นกัน คือ ไวรัส “มาร์เบิร์ก” (Marburg virus) มีอาการคล้ายไวรัส “อีโบลา” (Ebola virus) ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ จะเรียกว่า โรคไข้เลือดออกแอฟริกัน (African Hemorrhagic Fever) ก็ไม่ผิด เพราะทำให้เลือดออกภายในร่างกายไม่หยุด อ่อนเพลีย จนเสียชีวิต และล่าสุด พบผู้เสียชีวิตจากโรคมาร์เบิร์กแล้ว



          องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แถลงว่า ผู้เสียชีวิตรายแรกอยู่ที่เมืองเกกเกดู ประเทศกินี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา จากติดเชื้อไวรัส มาร์เบิร์ก หรือเอ็มวีดี (MVD) ซึ่งเป็นโรคประหลาดที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่อัตราการติดเชื้อสูง



          เจ้าหน้าที่ของเมืองเกกเกดู เก็บตัวอย่างของเชื้อจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว นำไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ หรือห้องแล็บภาคสนาม และห้องแล็บโรคไข้เลือดออกแห่งชาติของกินี พบผลตรวจเป็นบวกติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก



          ขณะที่ ผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยสถาบัน Institut Pasteur ในเซเนกัล ก็ยืนยันผลตรงกัน จึงไม่ต้องสงสัยว่า ไวรัสมาร์เบิร์ก กลับมาระบาดอีกครั้ง



          สถานการณ์และสภาพแวดล้อมของโลกเปลี่ยนไป WHO ต้องตั้งรับและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะถ้าระบาดในช่วงนี้ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากไปอีก



          ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีน หรือยาต้านไวรัสที่สามารถรักษาและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์ทำได้เพียงรักษาแบบประคับประคองตามอาการ และแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับคนไข้ได้มากขึ้น



          ไวรัสมาร์เบิร์กเป็นเชื้อโรคร้ายแรงที่ทำให้เลือดออกภายในร่างกายคล้ายกับไวรัสอีโบลา โดยพบผู้ติดเชื้อเป็นครั้งแรกที่เมืองมาร์เบิร์ก ในประเทศเยอรมนีเมื่อปี 1967 และเคยเกิดการระบาดครั้งใหญ่จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 200 ราย ที่ประเทศแองโกลาเมื่อปี 2005 



           นายจอร์เจส คี-เซอร์โบ หัวหน้าเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกในกินี ยืนยันว่า ในขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กรายที่สอง แต่ได้กักตัวผู้มีความเสี่ยงจะติดเชื้อในระดับสูง 4 ราย และกลุ่มเสี่ยงที่เหลืออีก 151 รายที่บ้านแล้ว โดยแยกคนเหล่านี้ออกจากสมาชิกในครอบครัวเพื่อเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และจะมีแพทย์ไปเยี่ยมเพื่อตรวจดูอาการทุกวัน



          เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำลังพยายามตามหากลุ่มคนที่อาจสัมผัสใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต และประกาศรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน เพื่อช่วยในการควบคุมการระบาดของไวรัสร้ายชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ 10 คนของ WHO ลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์การระบาด และสนับสนุนมาตรการฉุกเฉินของรัฐบาลกินี



          จากข้อมูลของ WHO พบว่า ไวรัสมาร์เบิร์กแพร่เชื้อจากค้างคาวกินผลไม้มาสู่คน จากนั้นเชื้อก็สามารถติดต่อกันได้ระหว่างคนกับคน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งในร่างกายผู้ป่วย หรือแม้แต่พื้นผิวและวัตถุที่ปนเปื้อนด้วยสารคัดหลั่งเหล่านี้



          อัตราการเสียชีวิตมีหลากหลายระดับ จากร้อยละ 24 ไปจนถึงร้อยละ 88



          การระบาดในอดีต ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส และการบริหารจัดการผู้ป่วย



CR:กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข



อ้างอิง : https://www.france24.com/.../20210810-factfile-the...



อ้างอิง : https://www.who.int/health-topics/marburg-virus-disease...



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X