ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้กลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ ผู้เดือดร้อนจากโควิด-19 วันนี้ 5 พันคน
การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กลุ่มเปราะบางผู้พิการ และผู้ประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันนี้ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดกิจกรรมบริการฉีดวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" สร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้กับผู้พิการ จำนวน 5,000 คน สานต่อพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรและพระราชทานแนวนโยบายให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ติดต่อจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดและเร่งสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ณ ลานกิจกรรมชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่กรุงเทพมหานคร
โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดสรรวัคซีน"ซิโนฟาร์ม" ที่ได้รับบริจาคมาจากหน่วยงานองค์กรต่างๆที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนฯ ให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ พระภิกษุและนักบวช รวมถึงประชาชนในชุมชนกลุ่มพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดวัคซีนฯ
พร้อมนำระบบการฉีดวัคซีนภาคสนามที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์พัฒนา ร่วมกับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) นำTablet และ Card Reader มาใช้ในการลงทะเบียนและบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งผู้รับบริการฉีดวัคซีนจะนั่งอยู่กับที่ตั้งแต่เริ่มต้นลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน วัดความดัน ฉีดวัคซีน และเฝ้าระวังอาการหลังฉีดจนเสร็จ ไม่ต้องเดินไปตามจุดต่าง ๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เป็นผู้ที่เดินให้บริการเอง
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ร่วมสานหัวใจแบ่งปันวัคซีน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ช่วยเลขาฯแพทยสภา ทดสอบเอง ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข้าชั้นผิวหนังแทนฉีดเข้ากล้าม ภูมิต้านทานสูง 99 %
หลังจากมีข้อเสนอแนะจากแพทย์ เรื่องการเปลี่ยนวิธีฉีดวัคซีน จากการฉีดเข้ากล้าม เป็นเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งจะลดปริมาณการใช้วัคซีนลง ทำให้คนไทยมีโอกาสได้รับวัคซีนมากขึ้นนั้น ล่าสุด รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Methee Wong” ถึงผลการทดลองฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เป็นบูสเตอร์โดส กับตัวเอง ด้วยการใช้วิธีฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ผลพบอาการข้างเคียงน้อยลง เนื่องจากใช้วัคซีนน้อยกว่าฉีดเข้ากล้ามถึง 5 เท่า แต่ภูมิต้านทานเพิ่มสูงขึ้นเป็น 99% จากก่อนฉีดอยู่ที่ 47% ชี้เป็นโอกาสที่รัฐบาล จะมีวัคซีนสำหรับบูสเตอร์ เพิ่มขึ้น 5 เท่าทันที
ถ้าผลวิจัยเป็นทางการออกมา Thiravat Hemachudha Kate Sripratak (also special thanks to research team ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha Kate Sripratak )รัฐจะมีวัคซีนสำหรับบูสเตอร์เพิ่มขึ้น 5 เท่าทันที แถมไม่ต้องง้อ m-RNA อีกต่างหาก เพราะ AZ ผลิตได้ในบ้านเราแล้ว และน่าจะยืดระยะเวลาความเสี่ยงจากการได้รับวัคซีน m-RNA vaccine ได้อีกระยะ จนกว่าจะมั่นใจเรื่อง long term sequelae ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี
จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกพื้นที่ ไม่เกิน 14 ส.ค. นี้
การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดสรรโควต้าวัคซีนไฟเซอร์ 7 แสนโดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในพื้นที่ 77 จังหวัด ได้มีการจัดส่งวัคซีน แบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกจัดส่งระหว่างวันที่ 4-5 สิงหาคม จำนวน 442,800 โดส รอบที่สองทยอยจัดส่งตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม จำนวน 257,200 โดส และคาดว่าจะถึงทุกพื้นที่ไม่เกินวันที่ 14 ส.ค. 64 นี้
ส่วนหลักเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 7 แสนโดส อ้างอิงมาจากฐานข้อมูลระบบกระทรวงสาธารณสุข (MOPH-IC) ที่มีประวัติการฉีดวัคซีนซิโนแวค ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 22 มิ.ย. 64 เนื่องจากวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักที่ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงแรก และเป็นจำนวนบุคลากรทั้งหมดโดยไม่แยกว่าเป็นด่านหน้าหรือกลุ่มสนับสนุน
สธ. เผย ครม.อนุมัติงบกลาง 1.2 หมื่นล้าน สู้ภัยโควิด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 12,669,218,318 บาท ให้กระทรวงสาธารณสุข จากงบกลาง
ซึ่งเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 แบ่งได้ ดังนี้
1.ค่าตอบแทนเสี่ยงภัย ค่าล่วงเวลา (OT) และอื่นๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ จำนวน 4,543,574,263 บาท
2.ค่าใช้สอย จำนวน 1,542,027,703 บาท เพื่อใช้ในการดำเนินการต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาลสนามทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ การค้นหาเชิงรุก ค่าฉีดวัคซีนและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่าจ้างเหมาบริการอื่นๆ เป็นต้น
3.ค่าวัสดุ จำนวน 6,367,645,590 บาท เป็นค่ายาฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ เวชภัณฑ์ วัสดุวิทยาศาสตร์ ร่วมถึงวัสดุสำหรับ อสม. เพื่อใช้ในการป้องกันโรค ยาสมุนไพร
4.งบลงทุน ครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง จำนวน 215,970,762 บาท
โดยมีระยะเวลาการใช้จ่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 นี้
ทั้งนี้ สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้มีจำนวน 15.1 ล้านเม็ด ได้ให้องค์การเภสัชกรรมจัดหาเพิ่ม โดยทยอยส่งมอบในเดือนสิงหาคม – กันยายนรวม 120 ล้านเม็ด และในเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564 มีแผนจัดหาและส่งมอบอีกเดือนละ 100 ล้านเม็ด
แจงปมฉีดวัคซีนไฟเซอร์บุคลากรส่วนกลาง 112 คน ชี้เป็นด่านหน้าช่วยงานโควิด
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่า บุคลากรส่วนกลางที่ปฏิบัติงานสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ตามสถานที่ต่างๆ ดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงาน โดยบุคลากรส่วนกลางทั้งหมดมีจำนวน 430 คน แต่มีเพียงบุคลากรที่ไปช่วยงานในสถานีที่เสี่ยงดังกล่าว 112 คน เท่านั้น ที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) เช่นเดียวกับบุคลากรด่านหน้าตามหลักเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขทุกประการ
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า การฉีดวัคซีนเป็นไปตามเงื่อนไขความจำเป็นและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการควบคุมป้องกันโรค ซึ่งมีโอกาสและมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อจากการปฏิบัติงานทั้งสิ้น ดังนั้น หากผู้ปฏิบัติงานได้รับวัคซีนแล้วจะสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และสามารถเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป
เชียงใหม่เตือน 2 พื้นที่เสี่ยง ในอ.เมือง-อ.แม่สอด ตรวจหาเชื้อโควิด-19
สถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในวันนี้พบ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 62 คน เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด จำนวน 26 คน โดยมาจากกรุงเทพมหานครมากที่สุด 14 คน รองลงมาคือสมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา แห่งละ 4 คน นครสวรรค์ 3 คน และปทุมธานี 1 คน ส่วนอีก 36 คน เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ซึ่งมาจากคลัสเตอร์น้ำพุร้อนสันกำแพง อำเภอแม่ออน 1 คน เป็นผู้สัมผัสในที่ทำงานน้ำพุร้อนสันกำแพง ตรวจครั้งที่ 2 ไม่มีผู้สัมผัสเพิ่ม รวมผู้ติดเชื้อสะสมในคลัสเตอร์นี้ 34 คน
นอกจากนั้น ในวันนี้ มี 3 คลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ คลัสเตอร์โรงแรมเลอเมอริเดียน ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง คลัสเตอร์รถขนส่งปูนซีเมนต์ และครอบครัวในหมู่ 10 บ้านวังลุง ตำบลหางดง อำเภอฮอด และคลัสเตอร์บริษัทนิ่มซี่เส็ง สาขาฟ้าฮ่าม
โดยคลัสเตอร์โรงแรมเลอเมอริเดียน จากการสอบสวนโรคสันนิษฐานว่า ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นพนักงานทำความสะอาด ปฏิเสธการไปพื้นที่เสี่ยง น่าจะติดจากการสัมผัสลูกค้าที่มาใช้บริการโรงแรม ทำให้แพร่กระจายเชื้อไปในกลุ่มพนักงาน 4 แผนก คือ แผนกทำความสะอาด แผนกต้อนรับ แผนกครัว และแผนกรักษาความปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อไปแล้ว 4 คน และในวันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 9 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมในคลัสเตอร์นี้ 13 คน
ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดที่มีผลตรวจเป็นลบ ได้ถูกสั่งให้กักตัว 14 วันแล้ว ขณะนี้ทางโรงแรมได้ทำการปิดทำความสะอาดและปิดแผนกที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ขอให้ลูกค้าผู้ใช้บริการโรงแรม ระหว่างวันที่ 2-11 สิงหาคม 2564 สังเกตอาการตนเอง หากพบมีความผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ (Swab) พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง และขอให้ผู้ใช้บริการร้านตัดผมคิวทองบาร์เบอร์ ที่ตั้งอยู่ใกล้วัดเสาหิน ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2564 เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อภายในร้านตัดผมซึ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับพนักงานโรงแรมเลอเมอริเดียน พร้อมทั้งกักตัว 14 วัน หากผลตรวจเป็นลบ
ส่วนคลัสเตอร์ครอบครัวรถส่งปูน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขับรถบรรทุกปูนมาจาก จ.สระบุรี พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย เป็นพนักงานรถขนปูน จากการตรวจกลุ่มเสี่ยงจำนวน 86 คน พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 8 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสมคลัสเตอร์นี้ 9 คน ซึ่งเป็นการติดเชื้อในกลุ่มญาติใกล้ชิด ล่าสุดอำเภอฮอด ได้สั่งให้กลุ่มเสี่ยงที่มีผลการตรวจเป็นลบ กักตัว 14 วัน พร้อมกันนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ สั่งปิดบ้านวังลุงใหม่ หมู่10 เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 24 ส.ค. และให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกักตัว อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ขอให้งดการเดินทางเข้า-ออก พื้นที่ดังกล่าว และให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ งดทำกิจกรรมรวมกลุ่มโดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.ฮอด และทีมแพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลฮอด ได้ตั้งจุดตรวจเชิงรุกกับกลุ่มเสี่ยง ที่สัมผัส และใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ป่วย ไวรัสโควิดทั้ง 9 คน ที่วัดวังลุง ต.หางดง อ.ฮอด โดยมีประชาชนที่มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ป่วยกว่า 300 คน เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อ
นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ฮอด และอสม.หมู่บ้านวังลุง ตั้งจุดตรวจทางเข้าออกหมู่บ้านวังลุง เพื่อคัดกรองบุคคลเข้า ออกพื้นที่หมู่บ้านวังลุง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ สั่งปิดบ้านวังลุงใหม่ เป็นระยะเวลา 14 วัน
มาเลเซียพบผู้ป่วยใหม่ 21,668 คน เร่งฉีดวัคซีนให้สตรีมีครรภ์
นพ.นูร์ ฮิชาม อับดุลลาห์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียเปิดเผยว่า ในวันนี้พบผู้ป่วยใหม่ 21,668 คน หนึ่งสัปดาห์หลังตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันของมาเลเซียทะลุหลัก 20,000 คน แนะนำสตรีมีครรภ์ให้ไปรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 และช่วยลดอาการป่วยไม่ให้รุนแรงในกรณีติดโรคโควิด-19 ระหว่างตั้งครรภ์ ที่ผ่านมามีสตรีมีครรภ์เสียชีวิตแล้ว 70 รายเนื่องจากไม่ได้รับวัคซีน
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยใหม่ในวันนี้ แยกรายพื้นที่ดังนี้ ศูนย์กลางการแพร่ระบาดคือ หุบเขากลัง รัฐสลังงอร์ มีผู้ป่วยมากที่สุด 6,278 คน รองลงมาคือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีผู้ป่วย 2,436 คน ขณะที่อีก 2 รัฐคือ รัฐเคดาห์และรัฐซาบาห์ มีผู้ป่วย 2,143 คนและ 2,052 คน ตามลำดับ
สำหรับรัฐยะโฮร์และรัฐปีนัง มีผู้ป่วย 1,706 คนและ 1,229 ตามลำดับ ขณะที่รัฐซาราวัก มีผู้ป่วย 1,216 คน ส่วนท้องที่อื่นๆ คือ รัฐกลันตัน มีผู้ป่วย 972 คน รัฐเปรัค 930 คน รัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน มีผู้ป่วย 899 คน รัฐปาหัง มีผู้ป่วย 629 คน รัฐตรังกานู มีผู้ป่วย 594 คน และรัฐมะละกา มีผู้ป่วย 494 คน
ในปัจจุบัน มาเลเซียมีผู้ป่วยสะสม 1,342,215 คน เสียชีวิต 11,373 ราย ส่วนเรื่องวัคซีน ประชาชนกว่า 16.3 ล้านคนรับวัคซีนเข็มแรกแล้ว อีก 9.5 ล้านคนรับวัคซีนครบสองเข็ม
ออสเตรเลียประกาศล็อกดาวน์กรุงแคนเบอร์รา 7 วันหลังพบผู้ป่วยโควิด-19
นายแอนดรูว์ บาร์ มุขมนตรีประจำเขตปกครองกรุงแคนเบอร์รา(เอซีที)ออสเตรเลีย ประกาศล็อกดาวน์กรุงแคนเบอร์รา 7 วัน เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00น.ของวันนี้ ปิดห้างร้าน โรงเรียน ห้ามประชาชนราว 400,000 คนออกจากบ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาด หลังพบชายวัย 20 ปีเศษติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว
จากการสอบสวนโรค เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นทราบว่า ชายดังกล่าวได้ตระเวนไปยังสถานที่หลายแห่งในละแวกชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ นับเป็นความเสี่ยงด้านสาธารณสุขร้ายแรงสำหรับประชาชนในกรุงแคนเบอร์ราในปีนี้ ส่งผลให้กรุงแคนเบอร์ราเป็นท้องที่ล่าสุดของออสเตรเลียที่ถูกล็อกดาวน์ในขณะนี้ เช่นเดียวกับนครซิดนีย์และเมืองเมลเบิร์น มีผลกระทบกับประชาชนกว่า 10 ล้านคน
แต่การล็อกดาวน์ในทุกท้องที่ของออสเตรเลีย มีข้อยกเว้น อนุญาตให้ประชาชนออกจากบ้านได้ในกรณีมีธุระจำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร-สินค้าจำเป็นในร้านสะดวกซื้อ,ไปซื้อยาจากร้านขายยา,ไปออกกำลังกายในละแวกชุมชนไม่เกินวันละหนึ่งชั่วโมง หรือเหตุจำเป็นอื่นๆเช่นการนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือไปทำงานประเภทที่ไม่สามารถทำที่บ้าน เช่น กิจการโรงแรม โรงพยาบาล หน่วยกู้ภัยและคนงานในภาคขนส่ง รวมทั้งคนขับรถแท็กซี่และงานเกี่ยวกับการฌาปนกิจศพ
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดในวันนี้ ออสเตรเลียพบผู้ป่วยใหม่ 376 คน ตัวเลขผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 37,754 คน เสียชีวิต 947 ราย
หุ้นเอเชียร่วง เทขายทำกำไรหลังบวก 4 วัน
ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดปรับตัวลงเล็กน้อยในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไรหลังจากตลาดบวกขึ้นติดต่อกัน 4 วัน และบรรยากาศการซื้อขายยังได้รับผลกระทบจากยอดติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในญี่ปุ่น นิกเกอิปิดที่ระดับ 28,015.02 จุด ลดลง 55.49 จุด
ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดลบในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับสภาพคล่องในตลาดการเงินของจีน หลังจากที่จีนเปิดเผยข้อมูลการปล่อยกู้ของภาคธนาคารที่ต่ำกว่าคาด และตลาดยังคงถูกกดดันจากการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ดัชนีฮั่งเส็งปิดวันนี้ที่ 26,517.82 จุด ลดลง 142.34 จุด