กรณี 28 สายการบินพาณิชย์ของไทย อาจโดนสั่งห้ามบินไปหลายประเทศ เนื่องจากไม่ได้ทำตามมาตรฐาน ICAO (The International Civil Aviation Organization) นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวถึงกระแสข่าวยืนยันว่า สายการบินพาณิชย์ของไทยได้รับรองมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นการตรวจสอบของกรมการบินพลเรือน ขณะที่องค์กรรับรองมาตรฐานการบินพลเรือนนานาชาติ ICAO ไม่มีสิทธิตรวจสอบสายการบินพาณิชย์ และไม่มีสิทธิสั่งห้ามทำการบินในประเทศอื่น เพราะถือเป็นอำนาจการตรวจสอบภายในแต่ละประเทศ
ส่วนการที่ ICAO ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมมาตรฐานการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการบินพลเรือนในระดับสากล ได้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานของกรมการบินพลเรือน เมื่อวันที่ 19-30 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะแจ้งข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) ในวันที่ 14 ก.พ. เป็นการแจ้งภายใน ซึ่งไทยต้องดำเนินการตอบรับและเสนอแผนดำเนินการแก้ไขให้ ภายใน 15 วัน จากวันที่แจ้ง แต่หากไทยแก้ไขไม่ได้ตามแผน ICAO จะส่งหนังสือแจ้งเพื่อที่จะประกาศแก่สาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ ICAOในวันที่ 30 พ.ค. 58
คาดว่า ประเด็นที่ ICAO จะให้ไทยแก้ไขมี 3 ประเด็น ที่สำคัญ คือ การที่กรมการบินพลเรือน รวมทั้งงานกำกับกิจการและการบริหารจัดการไว้หน่วยงานเดียวกัน จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน โดยส่วนตัวเห็นด้วยที่ควรจะแยกออกจากกัน แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะการบริหารสนามบินภูมิภาค 28 แห่งดำเนินการเชิงสังคมและความมั่นคง มีเพียงระยะหลังที่มีเที่ยวบินพาณิชย์เข้ามาบ้าง โดยสนามบินที่ทำกำไรได้ขณะนี้ ได้แก่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี อุดรธานี นครศรีธรรมราช แต่หากตัดสนามบินที่ทำกำไรออกไปให้หน่วยงานอื่น สนามบินที่ขาดทุนก็จะไม่มีงบประมาณเลี้ยงตัว แต่หากเสนอให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) รับไปบริหารหมดทั้ง 28 แห่ง ก็คงไม่ได้ เพราะ AOT เป็นบริษัทมหาชน ที่มุ่งทำกำไร การนำสนามบินที่มีผลขาดทุนรวมไปด้วยคงไม่ได้รับการตอบรับ