ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

30 กรกฎาคม 2564, 19:13น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564



กระทรวงต่างประเทศ ระบุ ภูเก็ต ยกระดับคัดกรองคนเข้าจังหวัด 14วัน ไม่กระทบ นักท่องเที่ยวต่างชาติ



           นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตออกคำสั่งจังหวัดภูเก็ต เรื่องยกระดับมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต มีผลตั้งแต่วันที่ 3-16 ส.ค. 2564 ซึ่งห้ามบุคคลและผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทเข้าจังหวัดภูเก็ต ทั้งทางบก ทางน้ำ และท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ว่า เรื่องนี้ไม่มีผลกระทบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าพื้นที่ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ แต่ทำให้นักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติที่พำนักในไทยซึ่งมีภูมิลำเนานอก จ.ภูเก็ต ไม่สามารถเดินทางเข้า จ.ภูเก็ตได้ในระหว่างวันที่ 3-16 ส.ค.นี้ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่อยู่ จ.ภูเก็ตครบ 14 คืนแล้วเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นต่อนั้น จะสามารถกลับเข้า จ.ภูเก็ตได้ เฉพาะในวันที่มีตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตในวันนั้น



สธ. ตั้งเป้า มาตรการล็อกดาวน์ จะทำให้ผู้ติดเชื้อ ลดลง 100 คนต่อวัน เปิดไทม์ไลน์ 'วัคซีนไฟเซอร์' เริ่มบริการฉีด 9 สิงหานี้  



          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในวันนี้ที่วัคซีนไฟเซอร์มาถึงประเทศไทย เก็บอยู่ที่อุณหภูมิ -70 องศา อยู่ที่คลังบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีการนำส่งตัวอย่างวัคซีนไปตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยแล้วที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าในวันที่ 2 สิงหาคมจะได้รับผล เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยจะให้บริษัทตรวจสอบย้อนกลับอีกครั้ง จากนั้นวันที่ 5-6 สิงหาคม จะส่งวัคซีนล็อตแรกไปฉีดเข็มกระตุ้น และกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งจะมีการซักซ้อมผู้ที่จะทำการฉีดให้มีความแม่นยำเพราะใน 1 ขวดต้องฉีดได้ 6 โดส รวมไปถึงการควบคุมเวลาเป็นอย่างดี โดยในวันที่ 9 สิงหาคมจะเริ่มบริการฉีดวัคซีน คาดว่าในปลายเดือนสิงหาคมจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ได้ครบ 1.5 ล้านโดส ในส่วนที่สหรัฐฯจะบริจาควัคซีนให้กับไทยเพิ่มนั้น ทั้งจำนวนและเวลา กำลังอยู่ในขั้นตอนการปรึกษารายละเอียด จะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป



          วัคซีนชนิด mRNA คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ ร่วมกับบริษัทไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech)บริษัทสัญชาติเยอรมัน โดยจะฉีดทั้งหมด 2 เข็ม เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ ใช้วิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยที่ภูมิคุ้มกันจะเริ่มเกิดหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 12 วัน แต่จะทำงานเต็มที่หลังจากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว



          โดยในวัคซีน 1 ขวด จะเป็นวัคซีนเข้มข้น จากนั้นจะต้องมีการผสมด้วยน้ำเกลือ หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า 0.9 % นอร์มอลซาไลน์ ใน 1 ขวดจะผสมได้ 2.25 มิลลิลิตร ฉะนั้นใน 1 ขวดจะฉีดได้ 6 โดส และที่แตกต่างจาก 2 ยี่ห้อที่เคยฉีดก่อนหน้านี้คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ที่ฉีด 0.5 มิลลิลิตร แต่ไฟเซอร์ จะฉีด 0.3 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อ โดยจะสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป



          สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยหากมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์นานขึ้นอาจจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อีก 25% นาน 1 เดือน หรือมีการล็อกดาวน์นานขึ้นกว่าเดิมอีก 20% นาน 2 เดือนก็จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดเหลือ 2,000 คน และมาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพขึ้นอีก 25% นาน 2 เดือน ก็จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงไม่เกิน 400 คน/วัน   



          ดังนั้นมาตรการต่างๆที่ สธ.ได้ดำเนินการทั้งการล็อกดาวน์ การตรวจโควิด-19 เชิงรุก และเร่งฉีดซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ ตามที่คาดการณ์ผู้ติดเชื้อก็จะลดลงเหลือ 100 คน/วัน          



         นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จะมีทีมสาธารณสุขจากในส่วนภูมิภาค อาทิ โรงพยาบาลชุมชน ชมรมแพทย์ชนบท ชมรมเภสัชชนบท ชมรมพยาบาลอาสา ชมรมโรงพยาบาลชุมชน ในการส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความอดทน สามารถปรับตัวในการทำงานได้ทุกสถานการณ์จำนวน 40-50 ทีม ประมาณ 500 คน ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯทั้ง 69 ศูนย์ เป็นทีม CCRT หลักในการตรวจเชิงรุกด้วย ATK หรือการดูแล HI โดยคาดว่า 50 ทีมใน 1 สัปดาห์ จะสามารถตรวจเชิงรุกได้ 400,000-500,000 คน และแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกมาได้ ประมาณ 70,000-80,000 คน



ทรู แจงไม่ได้ถูกแฮกระบบ จากขบวนการขายคิววัคซีนโควิด สถานีกลางบางซื่อ



         จากเหตุการณ์ที่ทรูได้ตรวจพบว่ามีการจองวัคซีนผ่านระบบ แต่ไม่มีการนำ QR CODE มาด้วย ทางเจ้าหน้าที่หน้างานทรูจึงได้ตรวจสอบกลับไป และไม่พบข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้กับทรู จึงได้แจ้งความ และแจ้งไปกรมการแพทย์ เพื่อทำการตรวจสอบอีกทางหนึ่งตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม         



          ทรู ขอชี้แจงว่า กรณีขบวนการขายคิวจองวัคซีนบางซื่อนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ “ระบบ” การจองฉีดวัคซีนของทรู แต่อย่างใด และไม่มีการแฮกระบบของทรู อย่างที่มีการแชร์ข้อมูลส่งต่อทางอินเทอร์เน็ต กระบวนการที่เกิดความผิดปกติที่ปรากฎชื่อเพิ่มขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากการมีชื่อเพิ่มเติมในระบบส่วนกลางของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลการลงทะเบียนผ่านค่ายมือถือแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลจากระบบทรู ที่ส่งให้กรมการแพทย์รายวันล่วงหน้านั้น ถูกต้องตามโควตาที่ได้รับ และเป็นการนำส่งข้อมูลทางเมลไปให้กรมการแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบและนำไปลงระบบเอง

          สำหรับกรณีนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนผู้ต้องสงสัยว่ามีการนำข้อมูลเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบส่วนกลางได้อย่างไร เพราะจากการตรวจสอบมีรายชื่อถูกเพิ่มเข้าระบบช่วง 4 ทุ่ม ซึ่งนำไปเพิ่มในโควตาทรู โดยการเข้าถึงข้อมูลผ่านดาต้าเบสนั้น ไม่ได้ผ่านจากการเจาะระบบโอเปอเรเตอร์ จึงต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน



          ในส่วนของการทำงานของคนที่สามารถลงระบบภายในนั้น กรมการแพทย์จะเป็นผู้กำหนด Username และ Password ให้สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ด้านในกับกรมการแพทย์ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ Outsource ที่ทรู ส่งมอบไปแล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก และเป็นการป้องกันเชิงรุก จึงขอให้กรมการแพทย์เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบการมอบหมายสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนกลาง รวมทั้งควรมีกระบวนการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ



ซิลลิค ประเทศไทย  ดูแลจัดเก็บ กระจายวัคซีนไฟเซอร์ ที่รับจากสหรัฐฯ



       หลังวัคซีนไฟเซอร์ จากสหรัฐฯ ส่งตรงถึงประเทศไทย ล่าสุด พักตร์นลิน บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย เปิดเผยว่า  บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้ให้บริการจัดจำหน่ายวัคซีนและยาเย็นชั้นนำของประเทศไทย ได้ให้บริการกับกรมควบคุมโรค ในการจัดเก็บและกระจายวัคซีนโควิด ไฟเซอร์ – ไบโอเอนเทค ชนิด mRNAจำนวน 1.5 ล้านโดส ที่อุณหภูมิ ระหว่าง -80 °C ถึง -60 °C ทั่วประเทศไทยภายในสิงหาคมนี้ ซึ่งบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา เป็นผู้ให้บริการด้านการเก็บรักษายาเย็นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีศักยภาพในการจัดเก็บควบคุมรักษาอุณหภูมิของวัคซีนได้ตั้งแต่อุณหภูมิ -80 °C ถึง -60 °C  อุณหภูมิต่ำกว่า -25°C ถึง -15°C อุณหภูมิ 2°C ถึง 8°C  และอุณหภูมิ 15°C ถึง 25°C



          รวมถึงนำนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ชนิดพิเศษมาใช้เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในมาตรฐานตลอดการจัดส่งจนถึงสถานพยาบาล



ฟิลิปปินส์ล็อกดาวน์กรุงมะนิลารอบใหม่เริ่ม 4-20 ส.ค.นี้ เร่งฉีดวัคซีนสกัดไวรัสเดลตา



          สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ปัจจุบันนี้ เริ่มมีแนวโน้มแย่ลงอีกครั้ง มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งพบการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาในหลายท้องที่ทั่วประเทศ



          นายแฮร์รี โรก โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐในวันนี้ว่า ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ลงนามในคำสั่งให้ล็อกดาวน์กรุงมะนิลาอีกรอบหนึ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมจนถึงวันที่ 20 สิงหาคมนี้ ปิดห้างร้าน ระบบคมนาคม รณรงค์ให้ประชาชนกว่า 13 ล้านคนในกรุงมะนิลาอยู่บ้านหรือทำงานจากบ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ยกเว้นแต่มีธุระจำเป็นเช่น ไปพบแพทย์หรือไปซื้ออาหารในร้านค้าในชุมชน



         นายโรก กล่าวถึงการประกาศล็อกดาวน์กรุงมะนิลาครั้งนี้ว่าเป็นการตัดสินใจอย่างยากลำบาก แต่รัฐบาลจำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่ ด้านนายเบนจามิน อาบาลอส ประธานสภาเทศบาลแห่งกรุงมะนิลาเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของฟิลิปปินส์จะเร่งขยายโครงการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมท้องที่ต่างๆของกรุงมะนิลาให้มากขึ้น ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเฉลี่ย 250,000 โดสต่อวัน จาก 150,000 โดสต่อวันในปัจจุบัน



          ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์ได้ล็อกดาวน์กรุงมะนิลาเมื่อเดือนมีนาคม จนสถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ลดลง รัฐบาลจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์กรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 11 เมษายนประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ 



         ในปัจจุบัน ฟิลิปปินส์มีผู้ป่วยสะสม 1.57 ล้านคน เสียชีวิต 27,577 ราย



คลัง เล็งออกมาตรการดูแลคนขับแท็กซี่ "พักหนี้-เยียวยา ม.40"



          นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนขับแท็กซี่ ตามคำเรียกร้อง หากได้ข้อสรุปแล้วจะแจ้งผลในทันที



          ปัญหาที่กลุ่มแท๊กซี่ เรียกร้องให้ช่วยเหลือโดยเร่งด่วนคือ คนขับแท็กซี่บางรายไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ของรัฐได้ เพราะกู้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร  หรือ นอนแบงก์ ซึ่งมาตรการของรัฐบาลไม่ครอบคลุม ทำให้กลุ่มแท็กซี่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือและยัง โดนคิดค่างวดเต็มจำนวน ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกยึดรถได้

          รวมทั้งกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่การเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยารายบุคคลตามมาตรา 40 ของ สำนักงานประกันสังคม เพราะส่วนมากเป็นประชากรแฝง ไม่ได้มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดสีแดงเข้ม 13 จังหวัดตามที่รัฐบาลประกาศให้เงินเยียวยา

          นอกจากนี้ ยังมีปัญหาโดยไล่ที่จอดรถแท็กซี่ เพราะเจ้าของพื้นที่ยังเก็บค่าเช่าเต็มราคา แต่รถ แท็กซี่จอดนิ่งสนิท ไม่มีรายได้ จึงค้างหรือไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่ ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงการคลังเตรียมประสานกระทรวงคมนาคม เพื่อขอพื้นที่สำหรับจอดรถแท็กซี่ ที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง



หุ้นไทยลบ 15.86 จุด กังวล มาตรการคุมโควิด-19 ระบาด



          ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,521.92 จุด ลดลง 15.86 จุด มูลค่าการซื้อขาย 87,720.54 ล้านบาท  ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงจากความกังวลผลประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ที่จะออกมาจะมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เข้มขึ้น หลังจากที่การแพร่ระบาดไวรัสโควิดในประเทศไม่ดีขึ้น และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศทำให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากมาตรการที่เข้ม และยังจะส่งผลกระทบต่อ GDP ไปด้วย ทั้งนี้ ภาระของภาครัฐฯทำให้หนี้สินประเทศเพิ่มขึ้น และมาตรการยิ่งเข้มก็อาจทำให้รัฐฯกู้เงินเพิ่มได้อีก ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเรื่องค่าเงิน ดังนั้นการแพร่ระบาดโควิดไม่ได้มองที่คนติดเชื้อมากอย่างเดียว แต่มองถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ, หนี้สินของประเทศ และค่าเงินด้วย



         ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดวันนี้ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบราว 7 เดือน หลังญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงกว่า 10,000 รายเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ ซึ่งเพิ่มความวิตกเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่แล้วของญี่ปุ่น ปิดตลาดที่ระดับ 27,283.59 จุด ร่วงลง 498.83 จุด



         ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดลบในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกว่ารัฐบาลจีนจะเดินหน้าควบคุมภาคธุรกิจ แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อคลี่คลายความตื่นตระหนกในตลาดก็ตาม ปิดวันนี้ที่ 25,961.03 จุด ลดลง 354.29 จุด



'กสทช.' ยันไม่ปิดกั้นเสรีภาพ 'ปชช.-สื่อ' ย้ำดูเฉพาะเฟคนิวส์โควิดเท่านั้น



          นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ประชาชนอย่าได้กังวลว่า สำนักงาน กสทช. จะเข้าไปก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของทุกคน สำนักงานฯ ไม่ได้ปิดกั้น หรือคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ไม่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย แต่จะดูแลในส่วนของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิดที่มีการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงเท่านั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนหมู่มากเกิดความสับสน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น



          ส่วนการหารือ ร่วมกับ ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ(ISP)ทุกราย  กรณีนี้จะดำเนินการตรวจสอบเนื้อหาที่มีการบิดเบือน สร้างความสับสนทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในกรณีที่มีความผิดชัดเจน สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าวทันที

ข่าวทั้งหมด

X