กรมชลประทาน เดินหน้า แก้ปัญหาภัยแล้งภาคกลาง ผันน้ำจากแม่น้ำยวม เติมน้ำเขื่อนภูมิพล

29 กรกฎาคม 2564, 15:41น.


          การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทานเปิดเผยว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล โดยการสร้างเขื่อนในแม่น้ำยวม และส่งน้ำผ่านอุโมงค์ไปเติมในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ได้ปีละประมาณ 1,800  ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน โครงการได้ศึกษาเสร็จแล้วรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ(คชก.)แล้ว เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 64  โดยการก่อสร้างในครั้งนี้ จะพิจารณาผลกระทบสำหรับเจ้าของที่ดินที่โครงการตัดผ่านเพื่อความเป็นทุกฝ่าย ระยะเวลาก่อสร้าง 7-10 ปี



          ขั้นตอนต่อไป คือ ส่งรายงานให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบ  หลังจากนั้น จะนำเสนอ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ให้ความเห็นชอบ          



          สำหรับ การผันน้ำจากเขื่อนแม่ยวมไปเขื่อนภูมิพล จะดำเนินการในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม สามารถเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลได้ปีละประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจะไม่ผันน้ำช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งมีปริมาณน้ำในแม่น้ำมีน้อย



          โดยการระบายน้ำจากเขื่อนแม่ยวม เท่ากับปริมาณน้ำตามสภาพธรรมชาติในแม่น้ำยวมในแต่ละช่วง เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ด้านท้ายน้ำด้วย



          ที่มาโครงการนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำยวมมีมากเกินใช้งาน ไหลลงสู่แม่น้ำเมยและไหลลงแม่น้ำสาละวิน ออกสู่ทะเลอันดามัน โดยไม่มีการใช้ประโยชน์ กรมชลประทานจึงให้มีการศึกษาหาแนวทางนำน้ำส่วนนี้ไปเติมเขื่อนภูมิพล โดยปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในเขื่อนภูมิพล ทำให้มีการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านไร่ มีน้ำอุปโภค-บริโภคเพิ่มขึ้นปีละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพลังงานไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล ปีละ 417  ล้านหน่วย นอกจากนี้ยังเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและการท่องเที่ยวที่เขื่อนแม่ยวม และเพิ่มปริมาณระบายน้ำ ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  



          นอกจากนั้น เมื่อมีการเติมน้ำแล้วจะทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนของแม่น้ำปิง มั่นคงขึ้น สอดรับกับการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชรสามารถช่วยส่งน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 550,000 ไร่ โดยครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไทรงาม อำเภอพรานกระต่าย อำเภอเมือง อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอคีรีมาศ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย





          สำหรับผลการศึกษาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ได้ข้อสรุปว่า



(1) ต้องสร้างเขื่อนในแม่น้ำยวม เหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมยทางด้านเหนือน้ำประมาณ 13.8 กม. ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ละนา ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยมีความจุราว 69  ล้านลูกบาศก์เมตร



(2) ก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่บ้านสบเงา เพื่อสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่ยวมเข้าอุโมงค์



(3) อุโมงค์ส่งน้ำ ขนาด 8.1- 8.3 เมตร ความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร รับน้ำจากสถานีสูบน้ำบ้านสบเงาไปเติมอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล



(4) ปรับปรุงลำน้ำแม่งูด ระยะทางราว 2 กิโลเมตร รวมค่าก่อสร้างประมาณ 71,110 ล้านบาท โดยการลงทุนในการก่อสร้างมี 2 แนวทางคือ ภาครัฐลงทุนทั้งหมด และภาครัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน



ข่าวทั้งหมด

X