กทม.เร่งช่วยเหลือผู้สูงอายุ-จนท.ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยบ้านกัลปพฤกษ์ ติดเชื้อรวมกว่า 40 คน
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา และศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา สำนักอนามัย ติดตามช่วยเหลือผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยบ้านกัลปพฤกษ์ ทวีวัฒนา ติดเชื้อโควิด-19 หลายคน
-ผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแล 45 คน ตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพื่อความสะดวกในการส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา หากมีอาการมากเกินกว่าที่ศูนย์จะรับได้ พบติดเชื้อ 23 คน ไม่พบเชื้อ 21 คน และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจอีก 1 คน
-เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้สูงวัย 61 คน ได้ตรวจโดยวิธีใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit( ATK) ผลเป็นบวก 19 คน ได้จัดยาทันที และผลเป็นลบ 34 คน ผลตรวจจากโรงพยาบาลราชพิพัฒน์เป็นบวกอีก 2 คน และไม่ได้กักตัวในศูนย์ 6 คน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยรายใดมีอาการเปลี่ยนแปลง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์จะพิจารณาย้ายผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องส่งต่อ 1 คน
ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา ได้หารือร่วมกับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักงานเขตทวีวัฒนา และเจ้าของศูนย์ดูแลผู้สูงวัยบ้านกัลปพฤกษ์ ทวีวัฒนา เพื่อใช้พื้นที่บริเวณศูนย์เป็นที่กักผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation) เนื่องจากมีแพทย์และพยาบาลประจำศูนย์ โดยโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องเวชภัณฑ์ เช่น ยาต้านไวรัส และพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์
CR:กรุงเทพมหานคร
พม.เร่งค้นหาเด็กติดเชื้อตกค้าง สธ.เผยหลักหมื่น อยู่ในกทม.-ปริมณฑล
นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึง กรณีพบเด็กติดโควิด-19 จากครอบครัวหรือสูญเสียผู้ปกครองจากการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กติดโควิด-19 จำนวนมากเป็นหลักหมื่นคน สัดส่วนที่พบมากยังอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
เด็กหลายคนที่ครอบครัวพ่อแม่ติดโควิด-19 จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ทำให้ต้องถูกกักตัว ขณะที่ไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแล ส่วนหนึ่งได้ประสานสำนักอนามัย และกระทรวงสาธารณสุข ในการนำเด็กเข้าไปแยกกักใน Hospitel หากเป็นเด็กเล็กถ้ามีพี่ยังให้พี่ช่วยดูแลน้อง แต่หากมีแต่เด็กเล็กก็ประสานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเอ็นจีโอ ช่วยดูแล อย่างไรก็ตาม กรมได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) รวมทั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เร่งค้นหาเพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนติดโควิด-19 และตกค้างอยู่ในบ้านหรือชุมชน
สปสช.เผยมีคนกักตัวที่บ้าน 3.7 หมื่นคน
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ที่หน่วยคัดกรองเชิงรุกทั้งของกรุงเทพมหานครและ สปสช. หากได้ผลเป็นบวกจะมีการนำรายชื่อเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลการกักตัวที่บ้านและจับคู่ผู้ป่วยกับคลินิกชุมชนอบอุ่นหรือศูนย์บริหารสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ที่ใกล้บ้านให้เข้าไปดูแล โดยขณะนี้มีผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้าน อยู่ในระบบแล้ว 37,000 คน สามารถจับคู่กับสถานพยาบาล 35,511 คน รอเข้าระบบ 3,092 คน
เตรียมทำรพ.สนามชุมชน ที่วิทยาลัยเทคนิคบ้านบ่อ สมุทรสาคร รับผู้ติดเชื้อที่ใช้ชุดตรวจ ATK
การดูแลผู้ติดเชื้อในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่เพิ่มขึ้นหลักพันหลายวันต่อเนื่องกัน มีการปรับแผนการดูแลผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลสนามชุมชน หรือ CI ตอนนี้หลายที่ได้เปิดรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวแล้ว ซึ่งช่วงแรกเป็นการรับผู้ติดเชื้อที่ใกล้จะหายที่ถูกส่งออกมาจากโรงพยาบาลสนามจุดใหญ่ แต่ตอนนี้ปรับแผนให้รับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ใช้ชุดตรวจ ATK ด้วย และตอนนี้ก็กำลังจะเกิดขึ้นอีกหนึ่งศูนย์คือที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร บ้านบ่อ โดยใช้อาคารสาครวิริยาภรณ์จัดทำเป็นศูนย์ และยังได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บ้านบ่อ ชาวบ้าน พระสงฆ์ และพนักงานของบริษัทสุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ที่มาช่วยกันขนย้ายสิ่งของในห้อง เพื่อเปิดพื้นที่ให้เป็นห้องโล่ง ขัดล้าง ทำความสะอาด เพื่อจัดวางข้าวของเครื่องใช้ประจำโรงพยาบาลสนามชุมชน คาดว่า โรงพยาบาลสนามชุมชนแห่งนี้จะเป็นรูปร่างพร้อมใช้ในอีกประมาณ 10 วันข้างหน้า
สำหรับศูนย์แห่งนี้ รับผิดชอบโดย อบต.บ้านบ่อ และ บริษัทสุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด บริษัทในพื้นที่บ้านบ่อ ที่ได้เข้ามาสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งกล้องวงจรปิดด้วย ที่นี่จะรับผู้ติดเชื้อได้ 180 เตียง
นอกจากนี้ ใน ต.บ้านบ่อก็มีจุดกักตัวหนึ่งแห่งที่เปิดใช้งานแล้ว คือที่โรงเรียนวัดกระซ้าขาว ส่วนของบริษัท สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด นั้นได้สร้าง FQ และ FAI ในบริษัทตัวเอง ไม่ได้นำพนักงานมาอยู่ใน CI ของชุมชน แต่เป็นการช่วยกัน เพื่อให้ตำบลบ้านบ่อมีที่รองรับสำหรับคนในพื้นที่อย่างเพียงพอ
CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.สมุทรสาคร