โฆษกสธ.ยืนยัน มียา-อุปกรณ์การแพทย์ดูแลผู้ป่วยสีเขียว สปสช.เร่งจัดหาชุด ATK ให้ปชช.ตรวจ

22 กรกฎาคม 2564, 14:47น.


          การเตรียมยาและอุปกรณ์การแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสีเขียวที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน Home Isolation นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมทั้งเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร อุปกรณ์ ปรอทวัดไข้ เป็นต้น เพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยดำเนินการอย่างดีที่สุด จากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มผู้ป่วยสีเขียวในเมืองพร้อมที่จะกักตัวอยู่ในบ้านมากกว่า



          เมื่อบริหารดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ซึ่งเป็นกลุ่มที่มากที่สุดได้แล้ว จะได้มีเตียงว่าง หรือ ปรับเตียงผู้ป่วยสีเขียวมาให้สีเหลืองและสีแดง เนื่องจากในขณะนี้การครองเตียงสูงมากกว่าร้อยละ 95 อย่างไรก็ตาม จากการบริหารจัดการ พอที่จะเพิ่มเตียงได้บ้างแล้วเพื่อดูแลผู้ป่วยอาการหนักและเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก  



          ส่วนสถานพยาบาลที่เรียกเก็บเงินผู้ป่วยก่อนที่จะเข้าไปรักษา นพ.รุ่งเรือง ยืนยันว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด หากประชาชนถูกเรียกเก็บเงินขอให้ส่งข้อมูลร้องเรียนมาที่สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 1426



          ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ไปตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชน ด้วยการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit รู้ผลภายใน 15 นาที กว่า 50,000 ราย ผลพบการติดเชื้อร้อยละ 10  จากการตรวจพบความผิดพลาดไม่เกินร้อยละ 3  ถือว่ามีความแม่นยำในระดับหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาและจัดสรรกระจายให้ประชาชนนำไปตรวจเอง ในเบื้องต้น นำร่องส่งให้สถานบริการ คลินิกอบอุ่น 200 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง



         นพ.รุ่งเรือง เพิ่มเติมว่า คนที่จะใช้ชุดตรวจ ATK จะต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น คนในครอบครัว ญาติ ติดเชื้อ หรือคนที่มีอาการสุ่มเสี่ยง เช่น มีไข้ ไอ จาม และขอให้ซื้อชุดตรวจจากร้านขายยาที่มีเภสัชกร หรือคลินิก สถานพยาบาล อย่าซื้อตามออนไลน์ เพราะชุดตรวจจะมีข้อผิดพลาด ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม หากผลการตรวจสอบพบว่าเป็นบวกให้ติดต่อประสานมาที่สายด่วน สปสช.1330 และถ้ามีผลบวกและอาการรุนแรงให้ประสานที่สายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 



         ส่วนคนที่ตรวจผลออกมาเป็นลบ หากยังไม่มั่นใจ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้เว้นไป 3-4 วันและตรวจหาเชื้อซ้ำ แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้ตรวจซ้ำต้องกักตัวและเว้นระยะห่างจากคนในบ้านและในชุมชนด้วย  



แฟ้มภาพ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวทั้งหมด

X