อภ.เริ่มผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ต้านไวรัสโควิด-19 ใช้เอง
ข่าวดีของไทย ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ภายใต้ชื่อ ฟาเวียร์ (200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) ที่องค์การเภสัชกรรม ได้วิจัย พัฒนา และผลิตเอง ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว จะเริ่มผลิตและกระจายให้ผู้ป่วยใช้ได้ต้นเดือน ส.ค.64
ระยะแรกผลิตได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 2,000,000 เม็ด ที่โรงงานขององค์การเภสัชกรรม ที่ถนนพระราม 6 และจะขยายกำลังการผลิตไปยังโรงงานผลิตยาที่คลอง 10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ประมาณวันละ 300,000 เม็ด หรือ เดือนละประมาณ 9,000,000 เม็ด
‘ศิริราช’ เผยผลสำเร็จวิจัยชุดตรวจโควิด รู้ผลไว 15 นาที คาดจำหน่ายได้ ส.ค.
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวผลการศึกษา "นวัตกรรมชุดตรวจแอนติเจนจำเพาะต่อโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019" โดย รศ.ดร.พญ. อัญชลี ตั้งตรงจิตร พร้อมด้วย รศ. ดร. นิทัศน์ สุขรุ่ง และทีมวิจัยจากศูนย์การออกแบบนวัตกรรมชีวการแพทย์ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ที่มีราคาถูก ใช้งานได้ง่าย รวดเร็วรู้ผล 15 นาที เป็นผลสำเร็จ และผ่านการประเมินประสิทธิภาพจาก อย. เรียบร้อยแล้ว โดยมีโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ บริษัท แอฟฟิโนม จำกัด เป็นบริษัทผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตและจำหน่าย ซึ่งเป็นชุดตรวจโดยคนไทยและผลิตในประเทศไทยเพียงหนึ่งเดียวจากรายชื่อ 24 บริษัทที่ได้รับอนุมัติจาก อย.นอกจากนี้น้ำยาที่ประกอบในชุดตรวจนี้สามารถฆ่าไวรัสได้ภายใน 1 นาที ทำให้ไม่ส่งผลต่อการกระจายของเชื้อโรคเมื่อทำการตรวจในภาคสนาม
หลังจากได้รับการอนุมัติจาก อย.แล้ว ผู้ผลิตแจ้งว่าในเดือนนี้ มีกำลังการผลิต 100,000 ชุด และในเดือนส.ค.64 จะสามารถผลิตได้อีก 200,000 ชุด ทั้งนี้ การผลิตในล็อตแรกจะเป็นชุดตรวจโควิด-19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (Professional Use) เพื่อให้โรงพยาบาลขนาดเล็กหรือโรงพยาบาลในชนบทสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุก ที่จะนำไปสู่การควบคุมการระบาดของเชื้อโรคได้
สำหรับชุดตรวจสำหรับประชาชนทั่วไป (Home Use) อยู่ระหว่างการปรับรูปแบบการใช้งานที่ง่ายและสะดวก เหมาะสมสำหรับคนทั่วไป คาดว่า จะสามารถผลิตและจำหน่ายได้ในเดือนส.ค.64 โดยกำหนดราคาขายคาดว่าจะไม่เกินชุดละ 250-300 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้
ทีมผู้วิจัยได้เร่งทำคลิปวิดีโอสาธิตและคำอธิบายการใช้งานชุดทดสอบสำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องถึงขั้นตอนวิธีการทำที่ถูกต้องและปลอดภัย ตั้งแต่การเก็บตัวอย่าง การแยงโพรงจมูกด้านหน้าที่ต้องลึกประมาณ 2 เซนติเมตร ปั่นจมูกเพื่อให้ตัวอย่างที่เก็บมีความสมบูรณ์ รวมทั้งการนำมาแช่ในน้ำยา การอ่านค่าแผ่นกระดาษ lateral flow และวิธีการจัดเก็บทำลายเพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะติดเชื้อต่อไป
ติดตามรายละเอียด https://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnewsdetail.asp?hn_id=2678
ประชุมศบค.วันนี้ หารือการฉีดวัคซีนผสมสูตร-ชุดตรวจ ATK
วันนี้มีการประชุมศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบค. เรื่องสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จะพิจารณามี 4 เรื่อง ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข รายงาน คือ
1.การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันและวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต พร้อมข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการรองรับ
2.เรื่องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Antigen Test Kit
3.มาตรการ บับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and Seal) มาตรการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation)
4.ประเด็นเกี่ยวกับวัคซีน ทั้งแนวทางการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร แนวทางการฉีดวัคชีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) แนวทางการจัดหาวัคซีน ทั้งวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือก รวมถึงแนวทางการแจกจ่ายวัคซีน
สธ.พิจารณารอบคอบแล้ว ยืนยันตามมติเดิม ‘ฉีดวัคซีนสลับชนิด’
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ได้มีการประชุมถึงแนวทางการให้วัคซีนสลับชนิดกันอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลได้ขอให้พิจารณาประเด็นนี้อย่างรอบคอบ ซึ่งในที่ประชุมยังยืนยันมติเดิมในเรื่องการให้วัคซีนสลับชนิดที่สามารถดำเนินการได้ และจะเสนอให้ที่ประชุมศบค.วันนี้พิจารณา หากนายกฯ เห็นชอบจะมีการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ คาดจะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศต้นสัปดาห์หน้า
สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 คณะกรรมการวิชาการได้พิจารณาแล้ว ยังใช้ได้ 2 วิธี คือ
-วิธีแรก ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า
-วิธีที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งในวิธีที่ 2 นี้เหมาะจะใช้กับผู้สูงอายุมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้สูงอายุจะไม่สามารถฉีดวัคซีนซิโนแวคได้ เพราะขณะนี้ไม่มีข้อจำกัดนั้นแล้ว เป็นเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนในแต่ละพื้นที่
เลขาฯสมช.เผย 25 ก.ค.จะประเมินสถานการณ์โควิด ครบล็อกดาวน์ 14 วัน
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค.ระบุว่า จะประเมินสถานการณ์ภาพรวมหลังออกประกาศข้อกำหนดไปแล้ว 14 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 25 ก.ค.64
ส่วนที่หลายฝ่ายมีข้อกังวลเรื่องการเปิดโครงการสมุยพลัสว่าจะต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่ เพราะอาจจะยิ่งเป็นการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจะมีความเข้มข้นมากกว่ามาตรการโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์
กระแสข่าวที่ไทย บริจาคเพิ่มเติม 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯให้องค์การอนามัยโลก เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศและโครงการโคแวกซ์ เพื่อต่อสู้โควิด -19 เป็นสัญญาณว่าไทยจะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียด
ไทยร่วมใจ เปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป ลงทะเบียนเที่ยงนี้ เริ่มฉีดวัคซีน 19 ก.ค.
ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (เกิดก่อน 17 ก.ค. 2504) ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และสามารถเดินทางมาที่ศูนย์ฉีดทั้ง 25 ศูนย์ได้ ลงทะเบียนได้ตั้งแต่เวลา 12.00 น.วันที่ 16 ก.ค. 64 ใน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย
-www.ไทยร่วมใจ.com
-แอปพลิเคชัน เป๋าตัง
-หรือร้านสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการ
เริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 19 ก.ค. 64 เนื่องจาก กระทรวงสาธารณสุข ปรับแผนการกระจายวัคซีน เป็นการเร่งฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพียงกลุ่มเดียวก่อนกลุ่มเป้าหมายกลุ่มอื่นๆ โดยได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 500,000 โดส เพื่อฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วน 7 กลุ่มเสี่ยง ควรฉีดในโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัย
ส่วนคนที่มีอายุ 18- 59 ปี ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับระบบไทยร่วมใจ ยืนยันว่า หากได้รับการจัดสรรวัคซีนมาจะเร่งฉีดให้กลุ่มนี้ทันที ตามลำดับที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
ย้ำผู้สูงอายุกลุ่มสำคัญ! รณรงค์โครงการลูกหลานกตัญญูพาไปฉีดวัคซีน
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขอให้ลูกหลานระลึกเสมอว่าตัวเองเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง จึงอยากรณรงค์ให้มีโครงการลูกหลานกตัญญูนำผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน หรือปักธงไว้หน้าบ้านว่า บ้านนี้ผู้สูงอายุยังไม่ฉีดวัคซีน เพื่อที่หน่วยงานจะไปฉีดวัคซีนให้