ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30 น.วันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2564

14 กรกฎาคม 2564, 07:17น.


สมุทรสาคร เร่งสร้าง Community Isolation อีกกว่า 30 แห่ง



          การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รับทราบถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19



-สิ่งที่ห่วง คือ เตียงผู้ป่วยในห้อง I.C.U. ขณะนี้เข้าสู่ขั้นวิกฤตแล้ว ด้วยจำนวนเตียงที่มีอยู่อย่างจำกัด แม้จะมีการขยายเต็มขีดความสามารถแล้วก็ตาม



-เตียงในโรงพยาบาลหลักทั้งของรัฐและเอกชน และเตียงสนามที่มีอยู่ในศูนย์ห่วงใยคนสาครทั้ง 7 แห่ง ไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน



          จุดที่สามารถเพิ่มเติมได้



1.โรงพยาบาลสนาม​ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่​ 15 ณ​ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ​ ต.นาดี 200​ เตียง



2.โรงพยาบาลสนามสีเหลือง-แดง​ ที่โรงพยาบาลวัดเกตุมวดีศรีวราราม​ 128 เตียง



-ย้ำการจัดตั้ง ศูนย์พักคอยคนสาคร (Community Isolation) อีกกว่า 30 แห่ง รับคนติดเชื้อได้อีกเกือบ 4,000 คน



-ขอความอนุเคราะห์ทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ตรวจโควิด-19 ให้ผู้เข้าเกณฑ์ PUI ได้ทุกคน



ฉีดวัคซีนดีกว่าแน่ ! หมอ ยกเคสผู้ป่วยน้ำหนัก 140 กก.หายจากโควิด ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม



          รายงานระบุว่า นพ.ธนพัฒน์ พวงเพชร นายแพทย์ชำนาญการ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โรงพยาบาลสมุทรสาคร อธิบายถึงแนวทางการแก้ปัญหา



-ห้อง I.C.U. ของโรงพยาบาลสมุทรสาครที่มีผู้ป่วยเกินจำนวนเตียงแล้ว ต้องจัดให้มีส่วนพื้นที่พักคอย เพื่อรอนำส่งเข้ามา เมื่อเตียงว่างลง และปรับห้องผู้ป่วยในแผนกอื่นๆ เพื่อทำเป็นห้อง I.C.U.โควิด-19 เพิ่มด้วย

-คนที่จะต้องนำเข้าห้อง I.C.U. ก็ต้องมีอาการหนัก มีหลายกลุ่มอายุ ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ทำให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่ประจำห้อง I.C.U. ต้องทำงานกันอย่างหนัก คอยเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยทุกคนอย่างใกล้ชิด และรักษาทุกคนอย่างสุดกำลังความสามารถ แต่ผู้ป่วยบางรายที่อาการสาหัสมาก เกินจะเยียวยาได้แล้วนั้น สุดท้ายก็ต้องเสียชีวิตลงอย่างที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะทางแพทย์ พยาบาล หรือครอบครัวของผู้ป่วย

-ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในห้อง I.C.U. แล้วเสียชีวิตเกือบทั้งหมด โดยเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน



-กรณีผู้ป่วยรายหนึ่ง เป็นที่น่าแปลกใจมาก เพราะมีน้ำหนักตัว ประมาณ 140 กิโลกรัม ถือเป็นเคสที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเสียชีวิตกว่าคนไข้รายอื่นๆ แต่สุดท้ายคนไข้รายนี้ก็ปลอดภัยดี เมื่อนำมาศึกษา จึงพบว่า คนไข้รายนี้ที่มีน้ำหนัก 140 กิโลกรัม ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ดังนั้น การฉีดวัคซีนยังคงมีความจำเป็นที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้



-ลดผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองเข้มก่อนเป็นกลุ่มสีแดง จนต้องนำเข้ามารักษาตัวในห้อง I.C.U.ได้ ก็คือ เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลอากาศ (Oxygen High Flow) ตอนนี้โรงพยาบาลสมุทรสาคร ต้องการอีกประมาณ 100 เครื่อง เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนมาก และอาการป่วยตอนนี้พบว่าเปลี่ยนระดับที่รวดเร็วมาก ดังนั้นทางเจ้าหน้าที่ จึงต้องรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองเข้มนี้ให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นกลุ่มสีแดง



CR:สำนักงานสาธารณสุข จ.สมุทรสาคร 



กลุ่มไหน จะได้รับวัคซีนแอสตร้า-ไฟเซอร์ ที่ได้จากต่างประเทศ



          เปิดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ไทยได้รับจากต่างประเทศ  



-วัคซีนไฟเซอร์ จากสหรัฐฯ จำนวน 1.5 ล้านโดส



-วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 1.05 ล้านโดส (ส่งมอบแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64) เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย



          กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เตรียมการส่งมอบวัคซีนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยเน้นฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ที่มีการระบาด รวมถึงพื้นที่ที่เปิดให้ท่องเที่ยว ดังนี้



วัคซีนไฟเซอร์: จำนวน 1.5 ล้านโดส จะฉีดให้กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่



1.บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 (Booster-Dose จำนวน 1 เข็ม)



2.ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง



3.ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง



4.ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต



วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า: จำนวน 1.05 ล้านโดส จะฉีดให้กับ 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่



1.ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง



2.ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง



3.ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น





CR: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข



‘หมอประสิทธิ์’ ห่วงเดลตาระบาดไทย 80-90% แนะเข็ม 3 ฉีด mRNA



           ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ว่า ขณะนี้ต้องมองในอนาคต โดยพิจารณาวัคซีนรุ่น 2 ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี จึงต้องมีการเจรจาเตรียมไว้ด้วย



          ส่วนการฉีดวัคซีนสลับชนิดหรือฉีดไขว้ ในต่างประเทศมีการศึกษาและประเทศไทยมีการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ 4-5 แห่ง รวมถึง รพ.ศิริราช คาดว่า ผลจะออกมาในเร็วๆ นี้ว่าการฉีดจับคู่ตัวไหนที่ดีที่สุด ซึ่งระยะเวลาอันใกล้นี้สายพันธุ์เดลตา จะเพิ่มเป็นร้อยละ 80-90 เหมือนประเทศอื่นๆ ซึ่งบางประเทศเริ่มพูดว่าน่าจะเพิ่มความรุนแรงด้วยจึงต้องเร่งบริหารวัคซีนหาเข้ามาให้มากและฉีดให้เร็ว

          กรณีบุคลากรทางการแพทย์ อยากบูสเตอร์โดสด้วยวัคซีนทางเลือกทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา จำเป็นหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลทางวิชาการพิจารณา หากพูดถึงเข็ม 3 ก็ต้องมุ่งเป้าไปที่วัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน(T Cells ) ซึ่งตอนนี้กลุ่มวัคซีนชนิดViral Vector Vaccines กระตุ้นได้ดีมาก mRNA ก็กระตุ้นดีเช่นกัน ประสิทธิภาพใกล้เคียง ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก ขณะนี้เรากำลังจะมีไฟเซอร์ และภาคเอกชนจะมีโมเดอร์นา และเรามีแอสตร้าเซนเนก้า จริงๆ ไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้อยู่ในกลุ่มพวกนี้ในการฉีดกระตุ้นของเข็มที่ 3

          กรณีคนที่รับวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค และรอเข็มสองที่เป็นทางเลือกหรือโมเดอร์นา ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เวลาฉีดซิโนแวคเข็มเดียวภูมิคุ้มกันไม่พอ ช่วงที่รอวัคซีนทางเลือกก็มีความเสี่ยง เพราะหากถูกจู่โจมด้วยสายพันธุ์เดลตา ก็อาจไม่ทัน



จับตาคนงานติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ ยังไม่พบว่าทำให้เสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์เดียว         



         การตรวจแคมป์คนงานในกรุงเทพมหานคร พบการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ เดลตาและอัลฟา ใน 7 คน ศ.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า จากการอ่านรายงานยังไม่เคยพบว่าการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ มีการเสียชีวิตมากกว่าการติดสายพันธุ์เดียว ซึ่งอาจเพราะยังมีรายงานไม่มาก ซึ่งเท่าที่ดูก็ยังไม่มีอาการอะไรแตกต่างจากคนอื่น



         กรณี 2 สายพันธุ์ที่มีความแตกต่าง เช่น ติดร่วมกับเบตาก็อาจน่ากังวลมากขึ้น เพราะมีจุดเด่นของสายพันธุ์แตกต่างกัน จึงต้องเฝ้าระวังจับตาต่อไป



         รวมถึงหาก 2 สายพันธุ์เกิดมีการแลกเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม อาจเกิดผลเชิงบวกหรือเชิงลบอะไรก็ได้ ต้องติดตามดู หรือหากเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ถ้าแพร่ได้ช้ากว่าเดิมก็จะหายไปเอง

 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X