ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564

13 กรกฎาคม 2564, 09:19น.


นักลงทุน กังวลศก.ไม่ฟื้น น้ำมันปรับลดลง จากโควิด-19 กลายพันธุ์



          ทิศทางตลาดโลก ราคาน้ำมันโลก ปิดตลาดปรับลดลง จากความกังวลว่าการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์ต่างๆของโควิด-19 กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก



-สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนส.ค. 64 ลดลง 46 เซนต์ ปิดที่ 74.10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล



-เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือน ก.ย.64 ลดลง 39 เซนต์ ปิดที่ 75.16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

         หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น กลับมากำหนดมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโควิด-19 ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก่อนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน

         รัฐมนตรีคลังกลุ่มเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่จี 20 ระบุเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้วว่าการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์ใหม่ๆและความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน เป็นปัจจัยลบที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก



ครม.พิจารณาใช้เงินกู้ 5 แสนล้าน เยียวยาผลกระทบการล็อกดาวน์



         วาระสำคัญในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานการพิจารณาใช้เงินกู้จาก พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) 500,000 ล้านบาท จะเสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการจากการล็อกดาวน์ประเทศล่าสุด          



          หลังจากเมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกประชุมด่วนทีมเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ นายดนุชา เป็นต้น



          ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  กล่าวว่า ธปท.ประเมินว่า 6 เดือนจากนี้ เศรษฐกิจไทย ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงจำเป็นต้องเร่งเยียวยาและเติมรายได้ให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนแรงงาน หลังจากได้รับผลกระทบมากเพราะถูกซ้ำเติมจากโควิด-19 หลายระลอก



          ขณะที่ การลดภาระหนี้เดิม เป็นเรื่องที่สำคัญหลังจากนี้ที่ต้องดำเนินการโดยเฉพาะครัวเรือน ตอนนี้เรื่องมาตรการทางการเงิน จะมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ที่เข้ามาช่วยส่วนนี้ได้แต่ต้องเร่งกระจายสภาพคล่องให้ตรงจุด โดยหนี้หลังโควิด-19 จะทำให้ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบสูงขึ้นในระยะสั้น การลดภาระหนี้ คือทำให้เพิ่มรายได้ครัวเรือน ส่วนระยะยาวเป็นการส่งเสริมการออม ป้องกันการก่อหนี้เกินตัว



‘หมอยง’ เผยข้อมูลการฉีดวัคซีนสลับชนิดกันได้ผลดี กว่า 1,000 ราย ไม่มีอาการรุนแรง 



         ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเรื่องการฉีดวัคซีนสลับชนิดกันว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์และคณะแพทย์มากกว่า 30 ชีวิตที่ทำอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนโควิด-19 มีโครงการทำอยู่มากกว่า 5 โครงการ เพื่อนำมาใช้อย่างเร่งด่วนในประเทศไทยให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ ข้อมูลที่ได้ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอ โดยเฉพาะการฉีดสลับเข็ม ข้อมูลที่ถูกในบันทึกในหมอพร้อมมีมากกว่า 1,200 ราย โดยที่ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง



          การสลับชนิดของวัคซีน เราทำมาโดยตลอดและเห็นว่าการให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัส Vector จะกระตุ้นได้ดีมาก



-การให้วัคซีนเชื้อตายที่เป็นทั้งตัวไวรัส เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราเคยติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือสร้างความคุ้นเคยกับระบบภูมิต้านทาน เมื่อกระตุ้นด้วยต่างชนิดโดยเฉพาะไวรัสเวกเตอร์ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า booster effect เหมือนกับคนที่หายแล้วจากโรคโควิด-19 และได้รับวัคซีนเสริมอีก 1 ครั้ง ก็จะมีการกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็ได้ทำการทดลองแล้ว



          การศึกษานี้เราไม่ได้ทำเฉพาะการตรวจวัดภูมิต้านทานเท่านั้น เรายังได้ทำภาวะขัดขวางไวรัส inhibition test ที่สามารถขัดขวางได้ดีมากเฉลี่ยถึงร้อยละ 95 และมีหลายรายถึงร้อยละ 99



-ในทำนองเดียวกันการให้เชื้อตาย 2 เข็ม ยิ่งสอนให้ร่างกายเหมือนติดเชื้อจริงแบบเต็มๆ หรือแบบรุนแรง และเมื่อมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัส Vector  จึงมี Booster effect  ที่สูงมาก



          นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์เดลตาและระบบภูมิคุ้มกันชนิดที่เรียกว่า T cell หรือ CMIR



          แน่นอนการศึกษานี้ ฝรั่ง ไม่ทันแน่นอน เพราะฝรั่งไม่ได้ใช้วัคซีนเชื้อตาย และจีนก็ไม่ได้ใช้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์อย่างกว้างขวางในขณะนี้



         ศ.นพ.ยง ขอขอบคุณทุกฝ่ายและอาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษาที่ทำให้ได้รับข้อมูลที่ดีมาก ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับและนำมาปรับใช้ในเชิงนโยบายจากการศึกษานี้



1. ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานที่สูงภายในเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเร็วกว่าการให้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ในประเทศไทยที่จะได้ภูมิต้านทานสูง ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ เหมาะสมกับการที่โรคกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ซึ่งเรารอไม่ได้



2.เป็นการปรับใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ขณะนี้ที่จำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด



3.การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Virus Vector สามารถทำได้ให้เกิดภูมิต้านทานที่สูงมาก โดยไม่ต้องรอวัคซีนชนิดอื่น เพื่อประโยชน์ของบุคลากรทางการแพทย



ท้อใจ! 'หมอยง' ให้กม.จัดการ จับได้แล้ว 1 คน คนกล่าวหาเลื่อนลอย



          ศ.นพ.ยง โพสต์ครั้งแรกว่าในส่วนตัวท้อใจหลายครั้งที่ไม่อยากจะมาโพสต์ให้ความรู้ และมีการหยุดเป็นครั้งคราว แต่ก็มีผู้ทักท้วงมาเป็นจำนวนมากว่าถ้าหยุดก็จะเข้าทางของผู้ไม่หวังดี ในส่วนตัวมุ่งทำการศึกษาวิจัยมาเกือบ 40 ปี เพื่อให้ความรู้กับชาวโลกไม่เฉพาะประเทศไทย เพราะเผยแพร่ในวารสารนานาชาติมาตลอด



         สังคมไทยในภาวะวิกฤตแบบนี้ แทนที่จะร่วมมือกัน สามัคคี แต่กลับเป็นพยายามที่จะพูดจาถากถาง ดึงเข้าสู่การเมือง ในบางครั้งมีการกล่าวหาที่เลื่อนลอยและไม่เป็นความจริง



         มีหลายคนเสนอให้กฎหมายเข้ามาจัดการ ในส่วนตัวไม่เคยไปสนใจอ่านเลยไม่เดือดร้อน แต่ที่เดือดร้อนมากกลับเป็นลูกศิษย์ที่ยังเคารพอาจารย์ ส่วนลูกศิษย์ที่ไม่เคารพก็ไม่เป็นไร ไม่เคยถือ  และขณะนี้ ก็ได้มีการจับแล้ว 1 คน และจะคงมีรายต่อๆไป โดยที่จะยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุด ขอให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง เพราะบ้านเมืองมีกฎหมายที่ทุกคนต้องเคารพและมีจริยธรรมที่ต้องให้เกียรติกันและกัน



รอก่อน ! ประชาชน ที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม จะมีบูสเตอร์ โดส เช่นกัน แต่ต้องดูข้อมูลให้ครบถ้วน



          การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ใน 2 สัปดาห์นี้ จะฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค โดยเฉพาะพื้นที่ระบาด เช่น สัปดาห์นี้จะส่งวัคซีนในกรุงเทพมหานคร 700,000 โดส ใน126 จุดฉีดในกรุงเทพมหานคร และ 21 จุดฉีดนอกโรงพยาบาล



         ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 และการฉีดสลับชนิดกัน เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและเชื่อว่าจะสามารถต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาได้ จึงมีมติฉีดบูสเตอร์โดส ให้บุคลากรสาธารณสุขด้านหน้าเป็นกลุ่มแรก



         กรณีประชาชนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม แล้วจะได้รับการฉีดบูสเตอร์เมื่อไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า



-ประการแรก วัคซีนไฟเซอร์ ที่บริจาคจากสหรัฐฯ ยังไม่ได้ส่งมาที่ประเทศไทย กำลังหารือในรายละเอียด ทั้งจำนวน และเวลาส่งมอบ



-ประการที่ 2 การฉีดกระตุ้น ขณะนี้การดำเนินการจะใช้แอสตร้าเซนเนก้า ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าก่อน โดยดำเนินการเมื่อมีความพร้อมทันที ส่วนประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว การฉีดบูสเตอร์ ก็จะดำเนินการต่อไปแต่ต้องดูข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน



คาดเจอผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เบตา! เพิ่มจากคนใกล้ชิดผู้ป่วยที่บึงกาฬ  



          การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เบตา ที่ส่วนมากพบการกระจุกตัวในจังหวัดภาคใต้ แต่กลับมาพบผู้ป่วยติดเชื้อคนแรกที่จ.บึงกาฬ เขตสุขภาพที่ 8 ภาคอีสานตอนบน เป็นคนงานเดินทางกลับมาจากไต้หวัน และเมื่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำรหัสพันธุกรรมไปตรวจสอบและเทียบเคียงแล้วไม่ได้มีที่มาจากภาคใต้และไต้หวัน ทำให้กรมควบคุมโรคต้องมีการสอบสวนในเชิงลึกในส่วนคนใกล้ชิดต่อไป



          นพ.ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า แนวทางในการรักษายังใช้วิธีการรักษาแบบผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วไป การตรวจสอบพบว่า ผู้ป่วยได้มีการสัมผัสกับบุคคลใกล้ชิดอีก 4 คน น่าจะเป็นสายพันธุ์เบตาด้วย



          จากการสังเกต พบว่ามีอาการป่วยต่างจากผู้ป่วยคนอื่น เพราะผู้ป่วยรายนี้แสดงอาการช้า อาจมีระยะฟักตัวช้า เนื่องจาก ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เป็นช่วงหลังจากการกักตัวครบ 14 วัน ที่สถานกักกันของรัฐ (SQ) ผลตรวจ 3 ครั้งระหว่างกักตัวก็ไม่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อกักตัวครบจึงเดินทางกลับบ้านที่ จ.บึงกาฬ และได้ร่วมทานข้าวกับครอบครัวและญาติพี่น้อง ต่อมาพบว่ามีอาการผิดปกติ จึงเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผลตรวจปรากฏว่าพบเชื้อโควิด-19 แพทย์ที่โรงพยาบาลบึงกาฬ จึงส่งเชื้อเพื่อตรวจหาสายพันธุ์



         อาการล่าสุดขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยรายใดที่อาการหนัก และมีแนวโน้มอาการที่ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งผู้ป่วยรายแรกอาการดีขึ้นแล้ว แต่เพื่อความมั่นใจจึงให้เฝ้าระวังอาการต่อที่โรงพยาบาลอีก 7 วัน



         นอกจากนี้ ยังมีการกักตัวสัมผัสผู้เสี่ยงสูง ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนนาเจริญ ต.คำนาดี อ.เมืองบึงกาฬ อีก 6 คน ซึ่งจะต้องมีการกักตัวต่ออีก 7 วัน จนครบกำหนด 21 วัน และหลังกักที่ Local Quarantine แล้ว ก็จะต้องกักตัวต่อที่บ้านอีก 7 วัน



CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.บึงกาฬ



 



 

ข่าวทั้งหมด

X