'นพ.ยง' เผยการฉีดวัคซีนสลับชนิดกันได้ผลดี มากกว่า 1,200 ราย ไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง

13 กรกฎาคม 2564, 09:06น.


          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเรื่องการฉีดวัคซีนสลับชนิดกันว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์และคณะแพทย์มากกว่า 30 ชีวิตที่ทำอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนโควิด-19 มีโครงการทำอยู่มากกว่า 5 โครงการ เพื่อนำมาใช้อย่างเร่งด่วนในประเทศไทยให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ ข้อมูลที่ได้ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอ โดยเฉพาะการฉีดสลับเข็ม ข้อมูลที่ถูกในบันทึกในหมอพร้อมมีมากกว่า 1,200 ราย โดยที่ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง


          การสลับชนิดของวัคซีน เราทำมาโดยตลอดและเห็นว่าการให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัส Vector จะกระตุ้นได้ดีมาก 


-การให้วัคซีนเชื้อตายที่เป็นทั้งตัวไวรัส เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราเคยติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือสร้างความคุ้นเคยกับระบบภูมิต้านทาน เมื่อกระตุ้นด้วยต่างชนิดโดยเฉพาะไวรัสเวกเตอร์ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า booster effect เหมือนกับคนที่หายแล้วจากโรคโควิด-19 และได้รับวัคซีนเสริมอีก 1 ครั้ง ก็จะมีการกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็ได้ทำการทดลองแล้ว


         การศึกษานี้เราไม่ได้ทำเฉพาะการตรวจวัดภูมิต้านทานเท่านั้น เรายังได้ทำภาวะขัดขวางไวรัส inhibition test ที่สามารถขัดขวางได้ดีมากเฉลี่ยถึงร้อยละ 95 และมีหลายรายถึงร้อยละ 99 


-ในทำนองเดียวกันการให้เชื้อตาย 2 เข็ม ยิ่งสอนให้ร่างกายเหมือนติดเชื้อจริงแบบเต็มๆ หรือแบบรุนแรง และเมื่อมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัส Vector  จึงมี Booster effect  ที่สูงมาก


          นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์เดลตาและระบบภูมิคุ้มกันชนิดที่เรียกว่า T cell หรือ CMIR 


           แน่นอนการศึกษานี้ ฝรั่ง ไม่ทันแน่นอน เพราะฝรั่งไม่ได้ใช้วัคซีนเชื้อตาย และจีนก็ไม่ได้ใช้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์อย่างกว้างขวางในขณะนี้


           นพ.ยง ขอขอบคุณทุกฝ่ายและอาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษาที่ทำให้ได้รับข้อมูลที่ดีมาก


ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับและนำมาปรับใช้ในเชิงนโยบายจากการศึกษานี้


1. ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานที่สูงภายในเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเร็วกว่าการให้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ในประเทศไทยที่จะได้ภูมิต้านทานสูง ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ เหมาะสมกับการที่โรคกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ซึ่งเรารอไม่ได้


2.เป็นการปรับใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ขณะนี้ที่จำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด


3.การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Virus Vector สามารถทำได้ให้เกิดภูมิต้านทานที่สูงมาก โดยไม่ต้องรอวัคซีนชนิดอื่น เพื่อประโยชน์ของบุคลากรทางการแพทย์


          ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค เปิดเผยถึงกรณีองค์การอนามัยโลกเตือนการใช้วัคซีนสลับชนิดว่า  ส่วนตัวไม่คิดว่า Dr. Swaminathan จาก WHO ค้านการใช้วัคซีนแบบสลับเข็ม แต่สิ่งที่ค้านคือคนไปขอฉีดแบบนั้นกันเอง คำว่า Public Health agencies (ซึ่งก็คือคณะกรรมการสาธารณสุข + ผู้เชี่ยวชาญ) can [decide] based on available data (บนข้อมูลที่มีในแต่ละประเทศ) ที่อยู่ใน ทวิตเตอร์ของเธอเองก็ชัดเจนอยู่ในตัวเองแล้ว ความเห็นของนักวิชาการควรใช้สารตรงจากนักวิชาการครับ ถ้าผ่านการย่อยมาจากสื่อ สาระที่ได้อาจผิดเพี้ยน”




 


CR: Yong Poovorawan


 


 


 
ข่าวทั้งหมด

X