อธิบดีกรมวิทย์ฯ แจง การตรวจ ATK ระวังผลลวง และเมื่อผลออกมาเป็นลบ ไม่ได้หมายความว่าไม่ติดเชื้อ
รู้จักวิธีการใช้ Antigen Test Kit (ATK) ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า การตรวจโดย ATK จะตรวจตัวอย่างจากจมูกหรือคอ เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงบริการมากขึ้น ไม่อยากให้คนไม่มีคิวตรวจ แล้วไม่ได้ไปตรวจแล้วเกิดปัญหาคนจำนวนหนึ่งแพร่เชื้อได้ โดยที่ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้ออยู่ในตัว
-กรณีเมื่อตรวจแล้ว ผลการตรวจเป็นลบ ไม่ใช่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่เชื้ออาจจะน้อยและตรวจไม่เจอด้วยวิธีนี้ ต้องระวังตัว กักตัว เพราะการตรวจนี้มีความไวต่ำกว่า RT-PCR และถ้ามีอาการหรือผ่านระยะเวลาหนึ่งต้องตรวจซ้ำ
-กรณีเมื่อตรวจแล้ว ผลเป็นบวก อาจจะต้องยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง เพราะอาจจะเกิดผลบวกลวง
รพ.เอกชนตรวจ ATK ได้ หากพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องหาเตียงให้
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สบส.ประชุมร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน อนุญาตให้ใช้การตรวจ ATK เพื่อให้ตรวจหาเชื้อได้เร็วขึ้น ตามสถานการณ์เปลี่ยนไป และหากตรวจพบผู้ติดเชื้อ มีระบบการดูแล 2 แนวทาง
-แนวทางที่ 1 หากโรงพยาบาลเอกชน มีเตียงและประเมินผู้ติดเชื้อเบื้องต้น พบว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ควรรักษาในโรงพยาบาล เช่น อาการหนัก อายุมาก เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้หาเตียงรองรับ
-แนวทางที่ 2 หากผู้ติดเชื้อแข็งแรงดี ไม่มีอาการ สถานพยาบาลเอกชนสามารถดำเนินมาตรการแยกกักตัวที่บ้านได้ทันที โดยได้รับความยินยอมและสมัครใจจากผู้ติดเชื้อ
ขณะนี้ ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตราย ตามด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่พำนักของผู้ป่วย (Home Isolation) เป็นการชั่วคราว และทำหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายการแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลติดตามอาการอย่างรวดเร็ว ดูแลค่าใช้จ่าย ไม่ให้เป็นภาระ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป
สภาเทคนิคฯให้คำปรึกษาแปลผล
ทนพ.สมชัย เงิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ออกแถลงการณ์สนับสนุนการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ทั่วประเทศ บริการทางเทคนิคการแพทย์อย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมถึงการให้บริการคำปรึกษาแก่ประชาชนในการใช้และแปลผล "ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 แบบตรวจด้วยตนเอง" (COVID-19 Ag self test kits) ที่มีนโยบายให้ใช้ในอนาคต
กก.สปสช. เสนอรัฐ จัดชุดตรวจ ATK ให้ปชช.ฟรี
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้ชุดตรวจ ATK เป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดสรรให้ประชาชนฟรี ไม่ควรมีการเก็บเงิน ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ค. 64) อนุกรรมการจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการประชุมเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้ รัฐต้องมีแผนรองรับแนะนำประชาชนหลังจากการตรวจด้วย
การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ถือเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ และเป็นบทบาทของรัฐอยู่แล้วที่ต้องกำกับควบคุมโรคระบาด ดังนั้น การตรวจต้องฟรีและมีแหล่งที่รัฐจัดซื้อได้ถูก ส่วนถ้าประชาชนจะไปหาซื้อด้วยตัวเองก็เป็นไปตามกำลังความสามารถ แต่รัฐต้องจัดฟรี อย่างเพียงพอ
การจัดสรรควรพิจารณาจากทะเบียนบ้าน หรือ ชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร จะมีผู้นำชุมชน มีอาสาสมัคร มีครัวเรือนชัดเจน ก็แจกจำนวนตามนั้นผ่านระบบอาสาสมัคร หมู่บ้านจัดสรรก็มีนิติบุคคลที่มีรายละเอียดลูกบ้านว่ามีกี่ครัวเรือน มีประชากรเท่าไร หรือในบริษัท ที่ทำงานจะรู้จำนวนคน ก็จัดสรรตามนั้น ผ่านไปรษณีย์ ไม่ต้องให้คนเดินมาหา
ชุดตรวจ ATK มีทั้งแจก และเปิดทางให้ซื้อเองได้ ให้ พณ.ควบคุมราคา
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจง กรณีชุด ATK ว่าจะแจกฟรีหรือจำหน่ายผ่านช่องทางไหนว่า เรามีของฟรี ไม่ต้องซื้อเอง โดยในสถานพยาบาล คลินิก ให้กับประชาชนไปใช้บริการเองได้ ซึ่งเมื่อมีของฟรี ก็มองว่า ผู้ขายก็น่าจะทำให้ราคาไม่สูงเกินไป และหากอนาคตซื้อเองได้ ต้องขายผ่านร้านขายยามีเภสัชกร แต่จะไม่มีการให้ขายในอินเทอร์เน็ต เพราะสินค้านี้จะขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.)
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปัจจุบันชุดตรวจ ATK ยังใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งกำลังเปลี่ยนเพิ่มเป็นชุดตรวจด้วยตนเอง หรือ Home use ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ การตรวจด้วยตัวเองต้องรอการอนุญาตก่อน และช่องทางการจำหน่าย จะจำกัดช่องทางจำหน่าย ซึ่งเพิ่มมาเป็นร้านขายยา ที่มีเภสัชกร หากขายผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ได้ เพราะจำกัดเฉพาะสถานพยาบาล คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิกการแพทย์ และร้านขายยา
หลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงฯแล้ว เหลือรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เบื้องต้นมี 24 บริษัทที่ใช้แบบบุคลากรทางการแพทย์ใช้ก็ยังอยู่ และจะมีอีกประมาณ 7 บริษัทซึ่งก็จะมีการปรับรูปแบบการใช้ มีเอกสารการใช้ คาดว่า สัปดาห์หน้าน่าจะใช้ได้ ส่วนการควบคุมราคาจะประสานกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งดำเนินการ
CR:กระทรวงสาธารณสุข, www.hfocus.org.