แยกเชื้อในชุมชน-ลดการต่อคิว ทีมเคลื่อนที่เร็ว ใช้ Antigen Test Kit ลงตรวจ เริ่มพรุ่งนี้

12 กรกฎาคม 2564, 16:33น.


          การคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกในพื้นที่ชุมชน ด้วยการส่งทีมเคลื่อนที่เร็ว Comprehensive COVID-19 Respond Team (CCR Team) 188 ทีมๆละ 8 คน ลงพื้นที่จะเริ่มได้ในวันพรุ่งนี้(13 ก.ค.64) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีมาตรการยกระดับทางสาธารณสุขและทางสังคมอย่างน้อย 14 วัน ทีม CCR Team  ลงพื้นที่นำชุดตรวจหาเชื้อ Antigen Test Kit (ATK) ไปตรวจหาเชื้อและรู้ผลภายใน 30 นาที ในเบื้องต้น จะให้บุคลากรทางการแพทย์ช่วยตรวจสอบ ให้ครอบคลุม 6 กลุ่มโซน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  



-กรณีการตรวจสอบผลเป็นบวก ทีม CCR Team จะทำหน้าที่ดูแล ให้ความรู้ แนะนำวิธีการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และ สามารถตรวจซ้ำโดยใช้วิธี RT-PCR หากพบว่า การติดเชื้อมีอาการรุนแรง ก็จะประสานส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล



-กรณีผลการตรวจเป็นลบ อาจเป็นเพราะตรวจในช่วงที่เชื้อยังไม่มาก ให้เฝ้าสังเกตอาการ และเว้นระยะห่าง และมีการตรวจหาเชื้อซ้ำ หากในระหว่างนั้นมีอาการให้ตรวจซ้ำได้เลย หากยังไม่มีอาการให้เว้น และตรวจในช่วงวันที่ 3-5  หากผลการตรวจเป็นลบอีกครั้ง แสดงว่าความเสี่ยงในการเป็นน้อยลงแล้ว



-กรณีพบผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคเรื้อรังในชุมชน ทีม CCR Team ก็จะฉีดวัคซีนให้เลย



          สำหรับทีม CCR Team  ทีมละ 8 คน ประกอบด้วย



1.แพทย์ พยาบาล นักวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ในคลินิกชุมชนอบอุ่น



2.อาสาสมัครสาธารณสุข หรือเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้ามาช่วยงาน



3.บุคลากรของกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่เขต ตำรวจ หรือ ทหาร ที่ประสานในการลงพื้นที่



          การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่รวดเร็วและมีที่ปรึกษา พร้อมทั้งตั้งศูนย์ประสานงาน CCR Team หมายเลขโทรศัพท์ 02-5901933



          นพ.ศุภภิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การใช้ชุดตรวจ ATK ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 24 ยี่ห้อแล้ว ประชาชนทั่วไปยังใช้หรือตรวจเองไม่ได้ ต้องรอให้อย.อนุมัติก่อน



          เมื่อ อย.อนุมัติแล้วเมื่อมีการวางขายตามร้านขายยาที่มีเภสัชกร ประชาชนสามารถซื้อและนำมาตรวจเองได้ ขอให้ประชาชนปฎิบัติตามคู่มือในการแนะนำให้มีการตรวจ ตรวจสอบวันหมดอายุ เตรียมสถานที่ตรวจไม่ให้ปะปนหรือแพร่เชื้อ อุปกรณ์ทั้งหมดเก็บให้ดี ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดหลังทดสอบ



-กรณีตรวจเองและได้ผลบวก ให้แจ้งสถานบริการใกล้บ้านเพื่อให้ดำเนินการต่อในการกักตัวที่บ้านหรือในชุมชน หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตามอาการ



-กรณีตรวจเองและได้ผลเป็นลบ แต่มีความเสี่ยงสูง ควรตรวจซ้ำ หากเป็นลบอีกโอกาสติดเชื้อน้อยลง



          อย่างไรก็ตาม วันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงแล้ว เหลือรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เบื้องต้นมี 24 บริษัท ที่ใช้แบบบุคลากรทางการแพทย์ใช้ก็ยังอยู่ และจะมีอีกประมาณ 7 บริษัท ซึ่งก็จะมีการปรับรูปแบบการใช้ มีเอกสารการใช้ คาดว่า สัปดาห์น่าจะใช้ได้ต่อไป



          เมื่อถามถึงการควบคุมราคามีมาตรการอย่างไร นพ.ไพศาล ดั่นคุม เลขาธิการอย. กล่าวว่า เมื่อเป็นเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นกลไกทางการตลาด แต่เมื่อใช้ด้วยตัวเอง หากตัวซัพพลายด์เพิ่มขึ้น แม้ดีมานด์เพิ่มขึ้น แต่ราคาก็ต้องสมเหตุสมผล แต่หากราคาไม่แน่นอน ก็ต้องเสนอไปยังการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งมีกระทรวงพาณิชย์ดูแลต่อไป



          ด้านพญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวว่า การใช้ชุดตรวจดังกล่าว มีการใช้ในโรงพยาบาลเฉพาะกรณีฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุและต้องรีบตรวจหาเชื้อโควิด-19 จะใช้ชุดตรวจนี้ แต่มีความแม่นยำต่ำ จึงไม่มีการนำมาใช้ แต่สถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ประชาชนต้องการตรวจมากขึ้น เนื่องจากการติดเชื้อแพร่ กระจาย รอผลไม่ไหว



 


 
ข่าวทั้งหมด

X