คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบ 4 ประเด็นควบคุมโรคโควิด-19 อนุมัติฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ขณะเดียวกันเห็นชอบฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โดส โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป เน้นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นหลัก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการพิจารณาประเด็นการควบคุมโรคโควิด 4 ประเด็น
1.เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯ ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตา โดยรพ.ต่างๆ สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสียสละดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
2. ที่ประชุมรับทราบการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โดส โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 4 สัปดาห์แล้ว จึงจะดำเนินการฉีดกระตุ้นบูสเตอร์โดส ได้ทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูง และเร็วที่สุดกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และจากการกลายพันธุ์จากอัลฟา มาเป็นเดลตา จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น
“การบูสเตอร์ โดส จะเป็นแอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก เพราะมีข้อมูลทางวิชาการว่า การให้วัคซีนกระตุ้นคนละชนิดจะเป็นผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคล เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น”
3.ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางในการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen test ในสถานพยาบาล ลดการไปรอคิวนานจากการรอตรวจ RT-PCR ซึ่งใช้เวลานาน โดยชุดตรวจ Rapid Antigen test มาใช้นั้น ต้องมีการผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับ อย. ปัจจุบันมีผู้มาขึ้นทะเบียน 24 ราย โดยจะอนุญาตให้ตรวจมาตรฐานในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง และเร็วๆนี้จะอนุญาตให้ตรวจได้เองในประชาชนที่บ้าน โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร กำชับให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
4.เห็นชอบแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักในชุมชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถแยกกักที่บ้าน หรือในส่วนของชุมชนนั้น ทั้งหมดจะมีระบบติดตาม มีเครื่องมือวัดออกซิเจนในกระแสเลือด มียา โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีแนวทางและจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยทุกราย ซึ่ง สปสช.จะร่วมมือกับรพ.ที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ อนุญาตให้ใช้วัคซีนเข็มที่สาม หรือบูสเตอร์โดส แล้ว เนื่องจาก มีการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา จะเป็นการฉีดให้คนที่ได้รับวัคซีนเข็มเดียว หรือคนที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม แต่ต้องเป็นวัคซีนต่างยี่ห้อกัน ทั้งโมเดอร์นาและไฟเซอร์ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น เช่น เข็มแรกได้รับวัคซีนเชื้อตาย เข็มต่อไปก็จะได้รับวัคซีนไวรัล เวกเตอร์ Viral Vector Vaccine หรือ mRNA หรือ Messenger Ribonucleic Acid อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเข็ม 3 จะเน้นฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน