ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564

12 กรกฎาคม 2564, 07:43น.


ทีมศก.ประชุมหาแนวทางเยียวยา ลุ้นเพิ่มเงินเราชนะ-ม 33 เรารักกัน  



          เย็นนี้จะมีความชัดเจน แนวทางเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งและข้อกำหนดห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน รวมถึงปิดบางกิจการ กิจกรรม เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลงให้ได้



          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจเวลา 15.30 น. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ นายกฯ มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จัดทำข้อเสนอทั้งหมดมาให้พิจารณาในวันนี้ หากได้ข้อสรุปจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในวันพรุ่งนี้(13 ก.ค.64)



         คาดว่า มาตรการเยียวยาประชาชนที่จะออกมาเบื้องต้น



-อาจมีการแจกเงินเยียวยาให้คนที่ขาดรายได้



-มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ



         อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า มาตรการที่จะช่วยเหลือจะเป็นรูปแบบมาตรการเดิม เช่น การเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ โครงการ ม 33 เรารักกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่อยู่ใน 10 จังหวัด หรือจะช่วยเหลือเป็นวงกว้าง



         มาตรการเยียวยาที่จะออกมาในครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เงินจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาไปแล้ว



เวที 40 CEOs (พลัส) เห็นว่า รบ.ควรเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง-สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น  



          นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แจ้งผลการประชุมในเวที 40 CEOs (พลัส) ให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลรับทราบถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น



-การเพิ่มวงเงินช่วยเหลือ เช่น โครงการคนละครึ่ง จาก 3,000 บาท เพิ่มเป็น 6,000 บาท



-ปรับเงื่อนไขโครงการ  ยิ่งใช้ยิ่งได้ ให้ใช้ได้ง่ายขึ้น ไม่ยุ่งยาก



-ฟื้นมาตรการ ช้อปดีมีคืน



-เสนอให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้



-เสนอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้สถาบันทางการเงิน สามารถใช้ดุลพินิจในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น



นักวิชาการ เสนอเยียวยาให้เสมอภาค คาดล็อกดาวน์รอบนี้เสียหาย 49,000-63,000 ล้าน



          นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่า การล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เสี่ยงและการยกระดับมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่วันนี้จะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณอย่างต่ำวันละ 3,500-4,500 ล้านบาท ทำให้เกิดความเสียหายโดยรวมขั้นต่ำในระยะเวลา 2 สัปดาห์ประมาณ 49,000 -63,000 ล้านบาท ผลกระทบทางด้านความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ครั้งนี้ น้อยกว่าการล็อกดาวน์ทั้งประเทศเมื่อปี 2563



          อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์ครั้งนี้ ซ้ำเติมความยากลำบากทางเศรษฐกิจต่อครัวเรือนรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงานรายวัน และธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กขนาดย่อมอย่างรุนแรง เนื่องจากกลุ่มคนและกิจการเหล่านี้อยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอมากอยู่แล้ว ประกอบกับข้อจำกัดทางด้านการคลังและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมากตามลำดับ มาตรการชดเชยรายได้และช่วยเหลือเยียวยา จึงต้องเน้นความเสมอภาคมากกว่าความเท่าเทียม



          มาตรการทางเศรษฐกิจ ต้องมุ่งเป้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กและขนาดย่อม เพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ประคับประคองไม่ให้เกิดการปิดกิจการเพิ่มเติมจำนวนมาก ไม่จำเป็นที่ประชาชนหรือธุรกิจทุกกลุ่มจะต้องได้รับความช่วยเหลือเท่ากันหมด ต้องเน้นช่วยคนที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน เพราะทรัพยากรและงบประมาณมีจำกัด



          นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ความจริงแม้ไม่ประกาศล็อกดาวน์ก็เหมือนกับกึ่งล็อกดาวน์อยู่แล้วสำหรับพื้นที่เสี่ยง คนจำนวนหนึ่งจึงล็อกดาวน์ตัวเองอยู่ที่บ้าน และลดกิจกรรมต่างๆ ลง



          มาตรการล็อกดาวน์ล่าสุดจะไม่มีผลใดๆ ในการควบคุมโรคระบาด และเพิ่มความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น หากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัคซีน mRNA มาฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ รวมทั้งเร่งฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เยาวชนและเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะการติดเชื้อจะลามสู่โรงเรียนและครัวเรือนมากขึ้น



 



 

ข่าวทั้งหมด

X