กลุ่มจี20 เตือนไวรัสโควิดกลายพันธุ์ คุกคามการฟื้นตัวของทั่วโลก

11 กรกฎาคม 2564, 14:47น.


          ที่ประชุมของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจาก 20 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก หรือ จี20 ออกคำเตือนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่และการกระจายวัคซีนที่ไม่มีความเท่าเทียมกันกำลังคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก



การประชุมของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของจี20 ที่เมืองเวนิสของอิตาลีในครั้งนี้ เป็นการประชุมแบบพบปะกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีสถานการณ์ของโรคระบาด เพื่อเตรียมพร้อมการประชุมของกลุ่มผู้นำจี20 ที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ โดยในคำเตือนของกลุ่มรัฐมนตรีคลัง ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้นตั้งแต่การเจรจาจี20 ในเดือนเมษายน โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการวัคซีนและการออกมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวนี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญคือการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว



          นายดานิเอเล ฟรังโก รัฐมนตรีคลังอิตาลี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนจนถึงเดือนธันวาคม กล่าวว่า กลุ่มจี20 ให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือด้านนโยบายทั้งหมดเพื่อต่อสู้กับโควิด -19 และไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการเคลื่อนไหวของพลเมืองและวิถีชีวิตของผู้คน แต่ได้ย้ำการสนับสนุนให้มีการแบ่งปันวัคซีนอย่างเท่าเทียมทั่วโลก โดยจะให้ทุนสำหรับประเทศยากจนนำไปจัดซื้อวัคซีนก่อนการประชุมสุดยอดในเดือนตุลาคม



          นางคริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า การฟื้นตัวพบอุปสรรคจากความแตกต่างในความพร้อมของวัคซีน



          ด้านนายอันโดนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ที่ประชุมจี20 แก้ไขปัญหาการกระจายวัคซีนเพิ่มการผลิตวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 2 เท่า และการบรรเทาหนี้สินของประเทศกำลังพัฒนา



          นอกจากเรื่องวัคซีนแล้ว ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มจี20 ยังเห็นพ้องแผนปฏิรูปภาษี เพื่อสกัดกั้นการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี ที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกและการจัดสรรรายได้ภาษีของบริษัทข้ามชาติที่ให้บริการดิจิทัลในรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น



....

ข่าวทั้งหมด

X