กระทรวงสาธารณสุข แนะนำการใช้มาตรการการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย โดยมีแพทย์ พยาบาลติดตามอาการ วันละ 2 ครั้ง ด้วยระบบเทเลเมดิซีน พร้อมส่งต่อโรงพยาบาลเมื่ออาการเปลี่ยนแปลง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนมากขึ้น อัตราการครองเตียงของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้นเป็น 30,631 คน ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวมากถึงร้อยละ 76, อาการปานกลาง หรือสีเหลือง ร้อยละ 20 และอาการหนัก หรือสีแดงร้อยละ 4 โดยกลุ่มผู้ป่วยสีแดง เพิ่มขึ้นเป็น 1,206 คน
สำหรับการแยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวในชุมชนนั้น มีข้อกำหนดคือ ผู้ติดเชื้อต้องสมัครใจและสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้, สถานที่เหมาะสมคือต้องมีห้องนอนแยก ส่วนการกักตัวในชุมชนจะใช้วัดหรือโรงเรียน ซึ่งทั้งรูปแบบจะต้องมีการลงทะเบียนกับสถานพยาบาล เพื่อให้แพทย์ พยาบาล สามารถติดต่อสื่อสารติดตามอาการได้ นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อได้รับเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด พร้อมแนะนำวิธีทดสอบง่ายๆ กรณีสงสัยว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ โดยให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังทำ หากปริมาณออกซิเจนลดลงมากกว่าร้อยละ 3 จะรับมารักษาที่โรงพยาบาลและมีระบบส่งต่อผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน
การแยกกักตัวที่บ้านเป็นการบริหารจัดการเตียงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะจากที่ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาล 14 วัน จะเป็นการแยกผู้ป่วยที่รักษา 7–10 วันแล้วอาการดีขึ้นออกไปกักตัวต่อที่บ้าน ซึ่งจะทำให้มีเตียงเพิ่มอีกประมาณร้อยละ 40–50 เพื่อรับผู้ป่วยใหม่ สำหรับการแยกกักตัวในชุมชน กรมการแพทย์ กทม. โรงเรียนแพทย์ ได้เตรียมสถานที่แล้ว ส่วนใหญ่ใช้สถานที่โล่งๆ เช่น ศาลาวัด หรือหอประชุมโรงเรียน นอกจากนี้ยังสามารถใช้แคมป์คนงานหรือหมู่บ้านที่มีที่แยกตัวให้กับผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ควรเกิน 200 คนเพื่อลดความแออัด และมีสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ
สำหรับเกณฑ์พิจารณาผู้ป่วยกักตัวที่บ้านจะต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อายุไม่เกิน 60 ปี อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคร่วม เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง โดยสถานพยาบาลจะประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ ลงทะเบียน แนะนำการปฏิบัติตัว ติดตามประเมินอาการ และรับส่งผู้ป่วยมารักษาในสถานพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มทำแล้วที่โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 20 คน ได้ผลดีทุกคนอาการดีขึ้น
ขณะนี้ มีผู้ขึ้นทะเบียนกักตัวที่บ้านที่รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และรพ.นพรัตน์ราชธานีมากกว่า 200 คน และขึ้นทะเบียนกักตัวในชุมชนอีกกว่า 200 คน และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมแล้วประมาณ 400–600 คน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ซึ่งสปสช.สนับสนุนงบประมาณค่าอาหารให้กับผู้ป่วยทุกราย สำหรับผู้ติดเชื้อที่ต้องการร่วมโครงการ ติดต่อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1330
...