ก.ดีอีเอส เผย 10 ข่าวปลอมที่ถูกแชร์ซ้ำบ่อยสุดปีนี้พุ่งเป้าเศรษฐกิจ

10 กรกฎาคม 2564, 16:28น.


          นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยรายงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งพบว่าในช่วง 6 เดือนของปีนี้ ข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนที่มีการแชร์วนซ้ำบ่อยที่สุด 10 อันดับแรก ส่วนมากเป็นข่าวเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องปากท้อง การเงิน ได้แก่



1. เรื่อง คลินิกแก้หนี้ ดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท ดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน กรุงไทย และ ธ.ก.ส.



2. เรื่อง ธ. ออมสิน เพิ่มช่องทางซื้อสลากออมสิน ที่เพจขายหวยออนไลน์



3. เรื่อง ธนาคารออมสินให้กู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท ผ่านมือถือและผ่อน 400 บาทต่อเดือน



4. เรื่อง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่วัดสังฆทาน จำนวน 300 ราย



5. เรื่อง ธนาคารออมสินเปิดลงทะเบียนปล่อยสินเชื่อเสริมพลังฐานรากรอบใหม่ ไม่ต้องมีคนค้ำ



6. เรื่อง ธนาคารออมสิน เตรียมเปิดให้กู้สินเชื่อเสริมพลังฐานราก รอบ 2 วงเงินทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท และเป็นลักษณะข่าวบิดเบือน



7. เรื่อง ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่อเงินด่วน 50,000-100,000 ผ่อนชำระ 9 ปี ไม่ต้องมีคนค้ำ



8. เรื่อง ธ. ออมสิน เปิดให้ลงทะเบียน เข้าร่วมสินเชื่อธนาคารประชาชน



9. เรื่อง ภาพที่กล่าวถึงแอปฯ หมอชนะขอเข้าถึงประวัติการใช้งาน ไมค์ และข้อมูลต่อไวไฟ



10. เรื่อง เปิดให้ขอสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ผ่านแอปฯ MyMo



          นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 25 ม.ค. 63 ถึง 30 มิ.ย. 64 ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 มีการคัดกรองข้อความมากกว่า 83 ล้านข้อความ พบว่าเข้าหลักเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 7,307 ข้อความ และมีการส่งต่อเพื่อตรวจสอบจำนวน 3,583 เรื่อง ซึ่งพบว่า ข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนในหมวดสุขภาพ อยู่ในอันดับ 1 จำนวน 2,373 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 66 ตามมาด้วย หมวดนโยบายรัฐ 1,086 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 30 และหมวดเศรษฐกิจ 124 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 4 ตามลำดับ



          ปัจจุบันศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้จัดทำคู่มือการแจ้งข่าวปลอมสำหรับประชาชน เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดการรู้เท่าทันข่าวลวงบนโลกออนไลน์ โดยแนะนำมีวิธีตรวจสอบข่าวปลอม ได้แก่ ให้อ่านข่าวทั้งหมดโดยยังไม่เชื่อพาดหัวข่าวเพียงอย่างเดียว ควรตรวจสอบ URL ของเว็บไซต์ที่นำมาเผยแพร่และตรวจสอบแหล่งที่มา ตัวตนของผู้เขียน ดูความผิดปกติของตัวสะกด ภาษาที่ใช้ หรือการเรียบเรียง พิจารณาภาพประกอบข่าว วันที่เผยแพร่ข่าว แหล่งของข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาใช้ หรือหาข้อมูลเปรียบเทียบกับเว็บไซต์อื่น สามารถตรวจสอบข้อมูลที่มีการเผยแพร่โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทั้งรูปภาพที่เป็นInfographic และรวมถึงแจ้งเบาะแสได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ฯ ดังนี้



1. เว็บไซต์https://www.antifakenewscenter.com



2. เฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center



3. ทวิตเตอร์ @AfncThailand



4. บัญชีไลน์ทางการ @antifakenewscenter



5. สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87



.....

ข่าวทั้งหมด

X