ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่รายละเอียดข้อปฏิบัติ ในการยกระดับควบคุมโควิด-19

10 กรกฎาคม 2564, 13:03น.


          เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศข้อกำหนด ตามที่ศบค.มีมติยกระดับการควบคุมโควิด-19 โดยระบุว่า  ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2547 (ฉบับที่ 27) ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และขยายเวลาบังคับใช้เป็นระยะจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้



ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์



ข้อ 2 ห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นตามข้อ 4 ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 น.ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย14 วัน นับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับผู้ฝ่าฝืนความผิดและต้องระวางโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548



ข้อ 3 การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือพลเรือนซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 2



ข้อ 4 บุคคลที่ได้รับยกเว้น ให้บุคคลตามกรณีดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถาน



     (1) การสาธารณสุข ได้แก่ ผู้ป่วยหรือผู้มีความจำเป็นต้องพบแพทย์หรือเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมทั้งผู้ดูแลบุคคล



     (2) การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน



     (3) การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน



     (4) การให้บริการหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน 



     (5) การประกอบอาชีพที่จำเป็น ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานตามรอบเวลา



     (6) กรณีจำเป็นอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะ



          โดยต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตน และเอกสารรับรองความจำเป็นต่อเจ้าหน้าที่



ข้อ 5 กรณียกเว้นเพิ่มเติมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์



ข้อ 6 มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เพื่อมิให้กิจการต้องหยุดชะงัก



ข้อ 7 มาตรการควบคุมแบบเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ให้เปิดดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา และมาตรการป้องกันโรคที่มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้



     (1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 น. แต่ห้ามการบริโภคในร้าน



     (2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. เปิดให้บริการเฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น



     (3) ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. ร้านสะดวกซื้อปิดบริการในระหว่างเวลา 20.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น



     (4) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬำหรือสถานที่ออกกำลังกายที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น.



     (5) สถานประกอบการนวดแผนไทย (รวมทั้งบริการนวดฝ่าเท้า) สปา สถานเสริมความงาม และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้ปิดดำเนินการ สำหรับร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ให้ยังคงเปิดดำเนินการได้เท่าที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้และให้ปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด



     (6) ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน



     (7) โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กวดขันการมั่วสุมประชุมกันเพื่อเล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพยาเสพติด หรือการกระทำผิดกฎหมายอื่นใดอย่างเคร่งครัด



ข้อ 8 การขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบ และกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยให้จัดระบบและระเบียบ จำนวน และห้วงเวลาของการเดินรถเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและตามแนวปฏิบัติที่ศปก.ศบค. กำหนด ซึ่งอาจทำให้ผู้เดินทางไม่ได้รับความสะดวกในระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น.



ข้อ 9 การเดินทางข้ามจังหวัดให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงระยะเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม



ข้อ 10 มาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทยในการบำบัดหรือรักษาตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการตรวจหาเชื้อเร่งรัดจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราว โรงพยาบาลสนาม



ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน



ข้อ 12 การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน (จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) เว้นแต่จะได้มีการประเมินความเหมาะสมของ สถานการณ์ต่อไป



ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564"



...



http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/154/T_0001.PDF

ข่าวทั้งหมด

X