การขาดแคลนพื้นที่โรงพยาบาลสนาม นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ ( 10 กรกฎาคม) กรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลธนบุรีจะเปิดรับผู้ป่วยอาการสีแดง หลังได้ร่วมกันขยายห้อง ICU ณ รพ.สนามราชพิพัฒน์ 1 เขตทวีวัฒนา ประมาณ 40 เตียง
นอกจากนั้น กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อโรงพยาบาล ( Community Isolation ) ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต โดยตั้งเป้าหมาย 20 แห่ง รองรับผู้ติดเชื้อได้ 3,000 ราย มีการเปิดให้บริการแล้ว 2 แห่ง คือ
-วัดสะพาน เขตคลองเตย
-ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค และ
-วัดปากบ่อ เขตสวนหลวง ซึ่งจะมีทีมแพทย์จาก รพ. สิรินธร เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วยสามารถรับรองสูงสุดได้ 170 เตียง ส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดให้ได้เร็วที่สุด และในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ก็ได้มีการเตรียมพร้อมในการเพิ่มโรงพยาบาลสนามเช่นเดียวกัน ซึ่งจะสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
ส่วนการขยายเตียงรพ.สนาม เพิ่มเติมในหลายส่วน คือ
-กระทรวงสาธารณสุข ได้ต่อสัญญาใช้สถานที่เมืองทองธานี สำหรับทำโรงพยาบาลบุษราคัมต่อไปอีกจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2564 แล้ว ทำให้มีเตียงรองรับผู้ป่วยมีอาการ (สีเหลือง)ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตลอดจนผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียงได้ประมาณ 4,000 เตียง โดยโรงพยาบาลบุษราคัมจะรองรับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชนที่รอเตียงตามบ้าน
-กระทรวงคมนาคม เตรียมตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่ อาคาร Satellite 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,000 เตียงในระยะแรก โดยใช้พื้นที่ชั้น 2 เป็นสถานที่ทำการของแพทย์และห้อง ICU ส่วนชั้น 3 และ 4 เป็นพื้นที่สำหรับคนไข้กลุ่มสีเขียวและเหลือง คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้อีกไม่นานนี้
ส่วนที่ จ.สมุทรปราการ เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม เพิ่มเติมที่
-คลังสินค้า ดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด19 ประมาณ 1,200 เตียง สำหรับทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวไร้สิทธิ์